ธนาคารพาณิชย์เดินหน้าปรับลดสาขาอย่างต่อเนื่อง ธปท.เปิดข้อมูล 2 ปีกว่าช่วงโควิด-19 แบงก์ “ปิด-ยุบ” สาขาไป 1,044 แห่ง ทั้งระบบเหลือ 5,459 สาขา เผยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเข้าสาขาน้อย สวนทางโมบายแบงกิ้งยอดกระฉูด
“กสิกรไทย” ชี้ปรับบทบาทสาขาเป็นตัวช่วย K PLUS ลดขนาด-ลดต้นทุน “แบงก์กรุงเทพ” รับควบรวมสาขาเกิดขึ้นเกือบทุกเดือนพร้อมโยกคนเข้ากองกลาง “ทีทีบี” ปั้นสาขาเป็นที่ปรึกษาการเงิน ลดสาขาไปกว่า 200 แห่ง ขณะที่ธนาคารกรุงศรีฯ ปรับโมเดลผนึกบริษัทในเครือชู “One Retail Branch”
แบงก์ปิด-ยุบกว่า 1,000 สาขา
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยทั้งระบบ ณ เดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 5,459 แห่ง ซึ่งเป็นการลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งลูกค้าใช้บริการสาขาน้อยลง และหันไปใช้โมบายแบงกิ้งมากขึ้น ทั้งนี้ นับจาก ม.ค. 2563 ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีสาขาทั้งสิ้น 6,503 แห่ง หมายถึงช่วง 2 ปีครึ่งธนาคารทั้งระบบมีการปรับลดสาขาไป 1,044 สาขา
ทั้งนี้เป็นการปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันธนาคารที่มีสาขามากที่สุดคือธนาคารกรุงเทพ 967 สาขา ธนาคารกรุงไทย เป็นอับดับสอง มีจำนวน 958 สาขา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารกรุงไทยได้เน้นมาขยายในส่วนของจุดให้บริการพื้นที่ขนาดเล็กแทน 48 แห่ง รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ ที่พบว่าจำนวนสาขาลดลงค่อนข้างมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ 736 สาขา แต่ก็มีการเปิดจุดให้บริการเพิ่มถึง 90 จุด
เคแบงก์ชูสาขาหนุน K PLUS
ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเน้นการใช้บริการโมบายแบงกิ้ง ลูกค้าที่เดินเข้าสาขาลดลง แนวโน้มรูปแบบสาขาจะมีขนาดเล็กลง และจะมาเป็นตัวช่วยเสริมบริการให้ลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับโมบายแอปพลิเคชั่น “K PLUS” เช่นการยืนยันตัวตน (KYC) การเปลี่ยนที่อยู่-เบอร์โทรศัพท์ หรือการใช้ K PLUS ติดขัด รวมถึงบริการเปิดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น ส่วนการให้สินเชื่อหรือคำปรึกษา ทีมสินเชื่อเข้าหาลูกค้ามากกว่าให้ลูกค้าเดินเข้ามาหาในสาขา
ดังนั้น จำนวนสาขาธนาคารจะขึ้นอยู่กับปริมาณธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า ซึ่งจะมีบางสาขาที่ปิดและเปิดใหม่ รวมถึงการโยกย้ายพื้นที่ตามพฤติกรรมลูกค้าที่ใช้บริการ โดยสาขาไหนที่มีปริมาณธุรกรรมน้อยจำเป็นต้องปิด เพราะธนาคารมีต้นทุนในการบริหารจัดการสาขา โดยธนาคารจะติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายการลดจำนวนสาขาแต่อย่างใด โดยตัวเลขสาขาและจุดให้บริการล่าสุดอยู่ที่ 839 แห่ง
ขณะที่จำนวนพนักงานสาขาจะมีการลาออกตามปกติ โดยธนาคารจะใช้วิธีการหมุนเวียนและโยกย้ายคนจากสาขาที่อื่นมาแทนสาขาที่คนไม่พอ จำนวนพนักงานดูตามดีมานด์และพฤติกรรมของลูกค้าเป็นหลัก โดยจะมีการปรับเพิ่มทักษะการเรียนรู้และผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ ๆ ตามความเหมาะสม
“ช่วงที่มีโควิด-19 ยอมรับสาขาลดลงไปค่อนข้างเยอะ และคนเริ่มสู่ New Normal หันไปใช้โมบายแบงกิ้งทำธุรกรรมการเงินหมด สะท้อนตัวเลขการเติบโตของโมบายแบงกิ้งที่พุ่งพรวด ดังนั้น สาขาในอนาคตรูปแบบจะมีขนาดเล็กลง และมีบทบาทสำคัญมาช่วยเสริม K PLUS”
BBL รวมสาขาไม่สร้างรายได้
ด้าน ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาขาธนาคารจะเป็นเหมือนเน็ตเวิร์กที่รองรับธุรกิจ จะขึ้นอยู่กับมุมมองการทำธุรกิจของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าลูกค้าธุรกิจยังคงต้องพึ่งพาสาขาอยู่ การควบรวมสาขาจะเกิดในพื้นที่สังคมที่เปลี่ยนไป และไม่ยั่งยืนในแง่ของรายได้ ซึ่งหลายสาขาที่วางไว้เดิมอยู่ใกล้ชุมชน-ตลาด แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปสะท้อนผ่านธุรกรรมการเงินที่ลดลง จึงจำเป็นต้องควบรวม
“เรื่องสาขาต้องตอบโจทย์ 2 เรื่องคือ 1.โครงสร้างธุรกิจของเราเป็นยังไง สาขาจะต้องปรับให้สอดคล้องกับธุรกิจที่เรามองไปข้างหน้า และ 2.สาขาดั้งเดิม ถ้าไม่สอดคล้องกับการขยายตัวของสังคมเมือง ก็ใช้วิธีควบรวม ทำให้จำนวนสาขาลดลงแน่ ซึ่งจะเห็นจำนวนที่ลดลงมากพอสมควร ช่วงที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพมีการควบรวมค่อนข้างเยอะเหมือนกัน แทบจะทุกเดือน และแนวโน้มภาพรวมแบงก์หลังจากนี้สาขาก็ต้องลดลงเรื่อย ๆ ควบคู่กับการขยายตัวของโมบายแบงก์ เพราะดูในต่างประเทศก็ยังจำเป็นต้องมีสาขา ซึ่งถ้าจะเป็นเพียวดิจิทัลอย่างเดียว อาจจะเป็นอีกโมเดลหนึ่ง”
ไม่รับเพิ่มเกลี่ยคนกองกลาง
ดร.ทวีลาภกล่าวว่า สำหรับจำนวนพนักงานต่อสาขาจะมีไม่มากนัก จำนวนคนต่อสาขาก็มีทั้งต่ำกว่า 10 คนต่อสาขา หรือมากกว่า 10 คน เมื่อปิดหรือควบรวบสาขา คนที่อยู่ก็จะหมุนเข้ากองกลาง และหมุนไปในสาขาที่ต้องการอัตรากำลังคนเพิ่ม และในส่วนของจำนวนพนักงานธนาคารก็ไม่ได้รับเพิ่มใหม่ ก็ถือว่าลดไปในตัวอยู่แล้ว โดยบริหารจัดการให้มีช่องว่างระดับหนึ่งให้สามารถหมุนคนใกล้เคียงได้ โดยพนักงานที่มีอยู่ ธนาคารก็พยายามให้เรียนรู้ทักษะในเรื่องของธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง (Wealth Management) โดยให้การอบรมหรือสอบต่าง ๆ เพิ่มเติม
ทีทีบีปรับลดกว่า 200 สาขา
นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การใช้บริการสาขาของลูกค้าน้อยลง และหันไปใช้โมบายแบงกิ้งในการทำธุรกรรมมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ลดลง ทำให้มีการปรับรูปแบบ สาขาจะหันมาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เนื่องจากลูกค้าที่ต้องการลงทุน ขอสินเชื่อ หรือซื้อประกันยังคงต้องการพูดคุยกับพนักงานแบบเห็นหน้ากัน ทำให้สาขาจะเป็นที่ให้คำปรึกษาทางด้าน Banking Product ส่วนธุรกรรมการเงินพื้นฐาน เช่น ฝาก-ถอน โอนเงิน และจ่ายบิล จะอยู่บนโมบายแอปพลิเคชั่นแทน
แนวโน้มจำนวนสาขาของธนาคารทีทีบี จะพิจารณาตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากความเจริญของสังคมเมืองเปลี่ยนไป เช่น อดีตที่ตั้งสาขาจะอยู่กับชุมชนหรือตลาดมีปริมาณธุรกรรมมาก แต่ปัจจุบันพื้นที่เปลี่ยนไป ธนาคารอาจโยกย้าย หรือควบรวมไปอยู่สาขาใกล้เคียงกัน ซึ่งมีทั้งเปิดและปิด ควบรวม และบางพื้นที่เข้าถึงยากอาจจะใช้การจัดตั้งตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) โดยในส่วนของทีทีบี คาดว่าจำนวนสาขาปัจจุบันที่มีอยู่ราว 600 แห่งบวกลบ ถือว่าเหมาะสม จากเดิมที่มีสาขาอยู่ประมาณ 890-900 แห่ง
“จำนวนพนักงานสาขาจะขึ้นลงตามจำนวนลูกค้า หากจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นและมีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น ธนาคารจะต้องมีพนักงานที่รองรับให้เพียงพอ โดยปัจจุบันธนาคารมีพนักงานในส่วนของธุรกิจรายย่อย (Branch และ Non Branch) รวมประมาณ 6,000 คน ซึ่งพนักงานเหล่านี้จะมีการเสริมทักษะทางการเงิน และสร้างความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอยู่ต่อเนื่อง”
“One Retail Branch” กรุงศรีฯ
นางสาวกนกวรรณ ศุภนันตฤกษ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากพฤติกรรมลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สาขายังเป็นช่องทางสำคัญในการให้บริการ โดยเฉพาะการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับลูกค้า รวมถึงประสานความร่วมมือระหว่างธนาคารกับบริษัทในเครือ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพพนักงานสาขาให้รองรับการช่วยเหลือลูกค้าไปสู่ช่องทางดิจิทัล
โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ธนาคารมีจำนวนสาขา 590 แห่ง โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ธนาคารมีการควบรวมสาขา 11 แห่ง และเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 575 แห่ง ภายใต้กลยุทธ์ “Krungsri One Retail” ตามแผนธุรกิจระยะกลางของธนาคาร โดยช่องทางสาขามีการพัฒนา One Retail Branch เป็นสาขารูปแบบใหม่ ผสานความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา, กรุงศรีคอนซูมเมอร์ และกรุงศรี ออโต้ ให้มีบริการเบ็ดเสร็จอยู่ในสาขาเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า
“นโยบายของธนาคารคือการพัฒนาพนักงานให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน เราจึงต้องพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และ Reskill ให้พนักงานมีความรู้ในการให้บริการธุรกรรมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป”
ธุรกรรมโมบายแบงกิ้งกระฉูด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Mobile Banking และ Internet Banking พบว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2565 ธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Mobile Banking มีจำนวนบัญชีลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ที่ 86.8 ล้านบัญชี จำนวนธุรกรรม 1.79 พันล้านรายการ ด้วยมูลค่า 5.6 ล้านล้านบาท เทียบก่อนโควิด-19 ในเดือนมกราคม 2563 มีจำนวนบัญชีลูกค้า 60.67 ล้านบัญชี จำนวนธุรกรรม 588 ล้านรายการ ด้วยมูลค่าธุรกรรม 2.93 ล้านล้านบาท
ขณะที่จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการ Internet Banking ณ เดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 38.1 ล้านบัญชี ปริมาณธุรกรรมอยู่ที่ 56.1 ล้านรายการ ด้วยมูลค่า 2.66 ล้านล้านบาท
ยูโอบีรับ 1,000 ตำแหน่ง
ขณะที่นางสาวศศิวิมล อารยวัฒนาพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรัพยากรบุคคล ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จัดงาน Open House ตั้งแต่วันนี้ ถึง 27 สิงหาคม 2565 เพื่อเปิดรับบุคลากร 1,000 อัตรา สำหรับนักศึกษาจบใหม่และผู้ประกอบวิชาชีพด้านการธนาคารทุกระดับ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจธนาคารภายหลังการประกาศเข้าซื้อกิจการธุรกิจกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Consumer Banking Business) จากซิตี้กรุ๊ป เมื่อต้นปี 2565
ทั้งนี้ เป็นการเปิดรับทีมงานในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ผู้บริหารระดับกลาง ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยอัตราที่รับเพิ่มร้อยละ 40 เป็นตำแหน่งผู้จัดการความสัมพันธ์ ร้อยละ 20 เป็นตำแหน่งพนักงานสาขา และร้อยละ 40 เป็นตำแหน่งในแผนกสนับสนุน
- แบงก์กำไรครึ่งปีแสนล้าน สินทรัพย์ดิจิทัลดิ่ง ไม่ฉุด “ยานแม่”
- KBTG อัพสปีดสู่ “เทคคอมปะนี” ปั้นรายได้ 5 พันล้าน จาก New S-curve ใน 5 ปี
อ่านข่าวต้นฉบับ: แบงก์ปิดเพิ่ม 1,000 สาขา ปรับโมเดล “โยกคน-ลดต้นทุน”
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้