เอฟทีเอ ว็อทช์ วิพากษ์กองทุนเอฟทีเอ แค่แต่งตัวเข้าเอฟทีเอ ไม่เยียวยาจริง ระวังอย่าใช้เป็นข้ออ้างในการร่วมสมาชิกในการเจรจา FTA ฉบับต่าง ๆ
วันที่ 11 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ได้แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุนเอฟทีเอ) พ.ศ. ….
โดยพร้อมยืนยันหลักการพื้นฐานสำคัญว่า ภาครัฐและภาคเอกชนต้องไม่เอาเรื่องการตั้งกองทุนไปเป็นข้ออ้างในการเจรจา FTA ฉบับต่าง ๆ ที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ถ้าความตกลงการค้ามีผลกระทบทางลบมากกว่าผลได้ หรือกระทบคนหมู่มาก ต้องไม่ทำ เพราะการเยียวยาไม่ช่วยอะไร
ทั้งนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า การเยียวยานั้นจะจำเป็นในกรณีที่เมื่อสังคมส่วนใหญ่และสภาเห็นชอบว่า ควรเข้าร่วมเอฟทีเอฉบับนั้น ๆ และมีผู้ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องสร้างความเข้มแข็งภาคส่วนต่าง ๆ ก่อนเข้าเอฟทีเอ ไม่ใช่มาเยียวยาทีหลัง
โดย พ.ร.บ.กองทุนนี้ ร่างตามหลักการรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 178 ที่แย่มากทั้งเนื้อหาและกระบวนการการจัดทำหนังสือสัญญา โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
จากเดิมตามมาตรา 190 รัฐธรรมนูญ 2550 คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอน
และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 เหลือเพียงแค่ เยียวยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ หลักการและเหตุผลสำคัญของกองทุนเอฟทีเอ ยังควรเน้นและคำนึงถึงเรื่องความเป็นธรรมระหว่างผู้ได้รับประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามความตกลงเขตการค้าเสรี ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากการตั้งกองทุนเยียวยา ซึ่งเป็นเพียงมาตรการตั้งรับ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกที่จะแก้ไขหรือป้องกันผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรมด้วย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.กองทุนนี้ ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการสำคัญข้างต้น
นอกจากนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ มีข้อสังเกต ต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนเอฟทีเอ 10 ข้อ ได้แก่
1. กองทุนนี้จำกัดการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการเท่านั้น ไม่ครอบคลุมระบบสาธารณสุข ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเจรจา FTA ในหลายข้อบท เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ฯลฯ
ถ้าไทยลงนามใน FTA ที่มีข้อผูกพันที่จะส่งผลต่อระบบสาธารณสุข เช่น ยาราคาแพงขึ้น อุตสาหกรรมยาในประเทศถดถอย ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น ระบบหลักประกันสุขภาพได้รับผลกระทบไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจะมีการเยียวยาอย่างไรและจะมีศักยภาพในการเยียวยาหรือไม่
งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาและระบบสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจะหามาจากไหนและมีหลักประกันอย่างไรว่าจะสามารถหางบฯมาเพิ่มได้ตลอดในระยะยาว หรือกองทุนจะสามารถรับผิดชอบได้อย่างไร ซึ่งวันนี้ในการรับฟังความคิดเห็น ตัวแทนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไม่มีคำตอบให้
2. กองทุนไม่ได้คำนึงผลกระทบในมิติอื่น เช่น มิติทางสังคม สุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ผลกระทบทางลบที่จะเกิดกับผู้บริโภค ฯลฯ นอกจากการเยียวยาในเชิงเศรษฐกิจของผู้ได้รับผลกระทบบางภาคส่วนเท่านั้น
3. ในส่วนที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น การทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรม recycle ขยะนำเข้า อุตสาหกรรมกลบฝังและทำลายขยะนำเข้า ฯลฯ จะมีวิธีการเยียวยาอย่างไร เพราะดังปรากฏการณ์ที่เห็นจากเรื่องเหมืองทอง น้ำมันรั่ว การนำเข้าขยะสารพิษ ฯลฯ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่สามารถจัดการได้ดี เป็นหายนะแก่ชุมชนโดยรอบ และทั้งสังคมในภาพรวม
4. แหล่งที่มาของกองทุน ตามร่าง พ.ร.บ.ระบุว่า มาจากเงินประเด็มจากงบประมาณแผ่นดินที่รัฐจัดสรรให้เท่าที่จำเป็น และมาจากค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า ผิดไปจากหลักการที่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการเสนอให้อยู่ในรูปภาษีลาภลอย ภาษีจากการได้โอกาสพิเศษจากนโยบาย หรือ Windfall Tax ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามรายได้หรือกำไรที่ได้จากการเปิดเสรีทางการค้าจากการส่งออก นำเข้า หรือการลงทุนทั้งในและการออกไปลงทุนต่างประเทศที่ได้ประโยชน์จากความตกลงต่าง ๆ เพื่อดำรงหลักการความเป็นธรรมระหว่างผู้ได้รับประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ข้อมูลจากการแถลงข่าวของกรมเจรจาฯระบุว่า ค่าธรรมเนียมจะจัดเก็บจากผู้ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการส่งออกภายใต้การเปิดเสรีทางการค้า คาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผลประโยชน์กลุ่มทุนได้รับ
จากข้อมูลของตัวแทนสภาหอการค้าไทยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกราว 19 ล้านล้านบาทต่อปี หากคิด 0.001% จะได้เงินเกือบ 190 ล้าน ขณะที่ทางเอฟทีเอ ว็อทช์ เสนอว่า ควรเก็บภาษีเพิ่มที่ 0.01% จะได้งบประมาณเข้ากองทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
5.ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. ไม่มีความชัดเจนว่า รวมถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ (ที่รวมถึงการวิจัยและพัฒนายา) ยกตัวอย่าง งานวิจัยผลกระทบของ CPTPP ด้านยา จะทำให้อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญยอดลดลงเป็นแสนล้าน จะนับรวมอยู่ในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบซึ่งต้องเยียวยาหรือไม่ และจะเยียวยาความสูญเสียนี้อย่างไร
6.ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนนี้ กรรมการมีเพียงข้าราชการ และคนที่หน่วยราชการเห็นชอบ ทั้งที่ควรเป็นกรรมการที่เป็นตัวแทนของภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ จาก สภาเกษตรกร, ตัวแทนสมาคม SMEs และสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ไม่ใช่มีแต่ราชการ และคนที่ราชการไปเลือกมานั่งเท่านั้น
7. เงินช่วยเหลือทั้ง 2 รูปแบบตามร่าง พ.ร.บ. ผู้ได้รับการช่วยเหลือต้องจ่ายคืนให้กองทุนหรือไม่ และในเรื่องกองทุนหมุนเวียนคือการจ่ายคืนให้กองทุนหรือเป็นการให้ seeding money กับภาคการผลิตหรือบริการนั้น ๆ และสามารถนำเงินหมุนเวียนนั้นมาต่อยอด ไม่มีรายละเอียด ทั้งที่กรมเจรจาฯพึงหาข้อมูลและกฎหมายลูกประกอบให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมพิจารณาว่า กองทุนเอฟทีเอนี้จะมีประโยชน์จริงหรือไม่
8. เงินช่วยเหลือยังคงเป็นไปในลักษณะการเขียนโครงการเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งรูปแบบนี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP เพราะเท่ากับเป็นการกีดกันผู้ประกอบกิจการรายเล็กและเกษตรกรรายย่อยที่อาจจะมีข้ออ่อนในการพัฒนาคำขอโครงการและเข้าถึงกองทุนได้
ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ชัดว่า ผู้ประกอบการรายเล็กและเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนได้ แม้ในร่าง พ.ร.บ.จะสนับสนุนให้มีการสนับสนุนจากหน่วยงานข้อกลาง แต่ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเพียงพอหรือมีศักยภาพพอที่จะช่วยเหลือให้พัฒนาโครงการจัดการงานเอกสารจนขอทุนเยียวยาได้
9. ในกรณีที่รับเงินช่วยเหลือไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายคืนให้กองทุนได้ จะมีมาตรการรองรับอย่างไร ขณะที่การเปิดเสรีการค้าอาจสร้างผลกระทบต่อชีวิตและการประกอบอาชีพแล้ว
10. จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีงานศึกษาย้อนหลังถึงกองทุนเอฟทีเอที่มีมาก่อนหน้าว่า ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไรด้วยปัจจัยใดบ้าง ก่อนที่จะนำเสนอรูปแบบกองทุนเยียวยาที่มีประสิทธิภาพที่สามารถช่วยเหลือเยียวยาได้จริง ควรมีขนาดของกองทุนที่เพียงพอเท่าไร และสัดส่วนของเงินช่วยเหลือในกองทุนจากแต่ละแหล่งที่มาควรเป็นอย่างไร (งบประมาณแผ่นดินก้อนแรก, งบประมาณแผ่นดินประจำปี, ค่าธรรมเนียมที่ได้ประโยชน์จากความตกลงการค้าฯ และเงินบริจาค)
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า กองทุนนี้จะไม่ครอบคลุมและสามารถช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าได้อย่างแท้จริง ดังนั้น เอฟทีเอ ว็อทช์ จึงไม่เห็นด้วยกับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเกรงว่า ภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอจะใช้ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นข้ออ้างในการเดินหน้าเข้าร่วมความตกลงต่าง ๆ โดยเฉพาะ CPTPP ที่จะมีผลกระทบทางลบอย่างกว้างขวางโดยอ้างว่า “เตรียมความพร้อมในการเยียวยาแล้ว”
อย่างไรก็ดี เอฟทีเอ ว็อทช์ เชิญผู้เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ได้ ที่
และ ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้
อ่านข่าวต้นฉบับ: เอฟทีเอ ว็อทช์ วิพากษ์กองทุนเอฟทีเอ ไร้เยียวยาจริง
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้