“สารัชถ์” ชี้เงินเฟ้อไทย เกิดจากราคาอาหารมากกว่าพลังงาน มองส่งผลกระทบในแง่ “การเมือง-สังคม” มากกว่าเชิงธุรกิจ ระบุรัฐกระทบหนักสุดต้องรับภาระ จับตา กฟผ.หนี้เพิ่ม 1 แสนล้าน หวั่นสุดท้ายแบกต้นทุนไม่ไหวต้องขึ้นค่าไฟ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวในงานสัมมนาของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) หัวข้อ “แนวโน้มธุรกิจยุคแรงกดดันสูง คาดการณ์เติบโตแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม กลยุทธ์หลักในการแข่งขัน” วานนี้ (18 ก.ค.) ว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้า ซึ่งใช้ก๊าซในการผลิต
อย่างไรก็ดี ราคาก๊าซในโลกก็มีความเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน ราคาก๊าซจึงปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งตนก็มองว่า การที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามวัฎจักร อย่างในช่วงก่อนนี้ที่เกิดโควิด-19 ระบาดหนัก ราคาน้ำมันและราคาก๊าซก็ลดลงไปต่ำมาก
“ตอนนั้นราคาก๊าซเหลือแค่ 2 เหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้กว่า 20 เหรียญ ดังนั้นก็มีทั้งวันที่ราคาต่ำมาก และวันที่ราคาสูงขึ้นมามาก โดยถึงวันหนึ่งก็คงหาจุดบาลานซ์ได้ ว่าราคาที่สมดุลในโลกนี้อยู่ที่ตรงไหน อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมว่าปัญหาราคาก๊าซ หรือราคาน้ำมันวันนี้ไม่มีใครแก้ได้ ก็เห็นทางฝ่ายการเมืองพูดกันเรื่องน้ำมันแพงกันเยอะ แต่จริง ๆ แล้ว ผมว่า ถ้าในโลกนี้ มีใครบอกได้ว่าที่ไหนราคาน้ำมันถูก ผู้ผลิตก็คงไปซื้อกันหมดแล้ว แต่บังเอิญตอนนี้ไม่มีที่ไหนในโลกราคาถูกเลย ก็เลยไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน” นายสารัชถ์กล่าว
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็มีผลกระทบเกี่ยวพันมาถึงเรื่องดอกเบี้ย เป็น 2 ตัวที่ส่งผลกระทบ ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนผิดคาด จากที่เคยคิดว่าหลังโควิดคลี่คลายแล้ว สิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น จากการที่โลกเปิดมากขึ้น การท่องเที่ยวกลับมา ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว
“แต่เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ทางอเมริกาเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพื่อดูเรื่องเงินเฟ้อ ส่วนเมืองไทยยังไม่ได้ขึ้น ก็มีผลกระทบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ขยับไปค่อนข้างเร็ว โดยธุรกิจที่กระทบโดยตรง ก็มาจากเรื่องดอกเบี้ยที่สูงขึ้น กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน จากที่เงินบาทเคยเป็นเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเซีย กลายเป็นเงินที่อ่อนที่สุดในเอเชียไป แต่ผมก็มองว่า เป็นวัฏจักร เดี๋ยวก็กลับมาใหม่ ผมว่าเป็นเรื่องปกติ”
นายสารัชถ์กล่าวว่า เงินเฟ้อในประเทศ จะน่ากลัวมากกว่า เพราะจะกระทบต่อทุกคน ที่ค่าของเงินจะน้อยลงไป ทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลงไป ก็จะกระทบกับทุกเซ็กเตอร์ โดยผลกระทบจะเห็นในภาพใหญ่ในเชิงการเมืองและสังคมมากกว่า ส่วนระดับบริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่จะมีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่ดูแลผลกระทบได้
“ถ้าไปดูเงินเฟ้อในไทย ผลกระทบที่มาจากราคาน้ำมัน หรือก๊าซ ก็มีบ้าง แต่ไม่ใช่ตัวใหญ่ ที่น่าแปลกก็คือว่า เป็นเรื่องราคาอาหารที่ขึ้นมา ซึ่งกระทบกับเงินเฟ้อในประเทศสูงมาก นอกจากนี้ ปุ๋ยก็ขึ้น อาหารสัตว์ก็ขึ้น พอขึ้นหมด ผมว่าก็จะมีผลกระทบกับการบริโภคภายในประเทศของเรา เมื่อหนักมากขึ้น ก็มีปัญหาเรื่องการเมือง เรื่องสังคมขึ้นมาในภาพใหญ่ ส่วนในแง่บริษัท จะมีเครื่องมือทางด้านการเงินในการป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้นได้ อย่างบริษัทผมก็เฮด (ป้องกันความเสี่ยง) ไว้เกือบ 100% หรืออัตราแลกเปลี่ยน เราก็ซื้อ Forward ไว้เกือบ 100% ดังนั้นที่น่าห่วงจะเป็นในทางสังคมมากกว่า” นายสารัชถ์กล่าว
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง สิ่งที่เห็นชัดเจนว่ากระทบ ก็คือ การที่รัฐต้องเข้าไปรับภาระ อย่างตอนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ดี ๆก็มีหนี้เพิ่มขึ้นมา 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากถูกปรับลดเครดิต ต้นทุนการออกหุ้นกู้ หรือต้นทุนเงินกู้ จะต้องปรับขึ้นแน่นอน และสุดท้าย ก็ต้องกลับมาขึ้นค่าไฟฟ้าอีก จะกลายเป็นลูกโซ่
- ซีอีโอ ทีทีบี เตือนรับมือ “หนี้ครัวเรือน” ระเบิด ชี้ “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย” เป็นตัวเร่ง
- หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 3 บริษัทยักษ์ “ไมเนอร์-ดุสิต-สยามพิวรรธน์” แห่ระดมทุนขาย
- วิกฤตค่าเงินจ๊าต เมียนมา “กอบศักดิ์” เผยรัฐห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย
อ่านข่าวต้นฉบับ: สารัชถ์ ชี้เงินเฟ้อ-น้ำมันแพง กระทบการเมือง-สังคม จับตาหนี้ กฟผ.
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้