หน้าแรกTHAI STOCKดาวโจนส์ร้อนแรง พุ่งกว่า 200 จุด คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบเศรษฐกิจ

ดาวโจนส์ร้อนแรง พุ่งกว่า 200 จุด คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบเศรษฐกิจ


ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ขานรับคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ถูกกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ณ เวลา 00.12 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,781.85 จุด บวก 221.87 จุด หรือ 0.64%

นักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ระบุว่า เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันศุกร์ที่ผ่านมา นายพาวเวลกล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินไป และเฟดเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวเสริมว่า เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยการประเมินข้อมูลที่เฟดได้รับ รวมทั้งแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

“การดำเนินการน้อยเกินไปจะทำให้เงินเฟ้อที่อยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดฝังตัวลึก และจะยิ่งทำให้เฟดต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อขจัดเงินเฟ้อออกจากเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน”

“ส่วนการดำเนินการที่มากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจเกิดผลกระทบโดยไม่จำเป็น” นายพาวเวลกล่าว

ถ้อยแถลงของนายพาวเวลแตกต่างจากการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีที่แล้ว ซึ่งเขากล่าวอย่างแข็งกร้าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลงอย่างหนักในขณะนั้น

“เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจของเราจะประสบความสำเร็จ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการที่เฟดยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า” นายพาวเวลกล่าวในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีที่แล้ว

นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. และเทน้ำหนักมากกว่า 50% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ย. และคงอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค.2567

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 5.9% ในไตรมาส 3/2566 หลังจากมีการขยายตัว 2.0% และ 2.4% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ

หากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐมีการขยายตัว 5.9% ในไตรมาส 3 ตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นการขยายตัวมากกว่า 2 เท่าจากไตรมาส 2 และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2564

ตลาดจับตาตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 2/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2) ที่จะมีการเปิดเผยในวันพุธ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพฤหัสบดี รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์

นักลงทุนจับตาดัชนี PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.0% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. จากระดับ 0.2% เช่นกันในเดือนมิ.ย.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 4.2% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.1% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% จากระดับ 0.2% เช่นกันในเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 170,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. จากระดับ 187,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.5%

สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 338,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.827 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 9.465 ล้านตำแหน่ง

ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่ำกว่าระดับ 9 ล้านตำแหน่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564

ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด


     

คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้


Source link

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป
RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Technical Summary Widget Powered by Investing.com

ANALYSIS TODAY

Translate »