spot_imgspot_img
spot_img
หน้าแรกTHAI STOCKซีอีโอ ทีทีบี เตือนรับมือ “หนี้ครัวเรือน” ระเบิด ชี้ “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย” เป็นตัวเร่ง

ซีอีโอ ทีทีบี เตือนรับมือ “หนี้ครัวเรือน” ระเบิด ชี้ “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย” เป็นตัวเร่ง


ปิติ ตัณฑเกษม ซีอีโอทีทีบี หวั่น “เงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น” กระทบหนี้ครัวเรือนไทย หวั่นซ้ำรอยเกาหลีในอดีต เตือนเร่งช่วยกันแก้ปัญหา เผยสมาคมธนาคารไทยกำลังผลักดันมาตรการรับมือ จี้ “เจ้าหนี้-ลูกหนี้” เร่งเจรจาปรับโครงสร้าง หนุน “รวมหนี้” บรรเทาภาระผ่อนต่อเดือน พร้อมแนะธุรกิจจัดแผนธุรกิจตั้งรับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) กล่าวในงานสัมมนาของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) หัวข้อ “แนวโน้มธุรกิจยุคแรงกดดันสูง คาดการณ์เติบโตแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม กลยุทธ์หลักในการแข่งขัน” วานนี้ (18 ก.ค.) ว่า

สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ส่งผ่านมาจากข้างนอก อย่างราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งน้ำมันเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านมาในอีกหลาย ๆอย่าง อย่างไรก็ดี สิ่งที่กระทบไทยแน่ ๆ และ กระทบแล้วก็คือ เงินเฟ้อ ส่วนที่จะกระทบต่อไปก็คือ ดอกเบี้ย และ สิ่งที่ไม่รู้ว่ารอระเบิดอยู่เปล่า ก็คือ หนี้ครัวเรือน

“คนที่เป็นหนี้ครัวเรือน ก็เป็นคนรายได้น้อย ซึ่งคนกลุ่มนี้พอเจอเงินเฟ้อ ก็เท่ากับว่าเงินในกระเป๋าเขาก็น้อยลง เท่านั้นยังไม่พอ อีกเดี๋ยวดอกเบี้ยก็จะขึ้นอีก คนกลุ่มนี้จึงน่าเป็นห่วงที่สุด โดยคนเหล่านี้ก็คือ ลูกค้าของบริษัทต่าง ๆ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ”

ย้อนไปปี 1980 ที่เกิดวิกฤตหนี้ครัวเรือนในหลายประเทศ อย่างสหรัฐเริ่มแรกมีหนี้ครัวเรือนเกือบ 60% ของ GDP โดยอัตราการผิดนัดชำระขึ้นไปที่ 6% ต่อมาคือ ฮ่องกง หนี้ครัวเรือนก็ประมาณ 60% แต่ตอนนั้นอัตราผิดนัดขึ้นไปที่ 17% ขณะที่เกาหลีเป็นกรณีที่น่าสนใจที่สุด ตอนนั้นหนี้ครัวเรือนขึ้นไป 70% อัตราผิดนัดชำระอยู่ที่ 14% ขณะที่สหรัฐต่อมาก็มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 100% อัตราผิดนัด 11.5% ส่วนของไทยตอนนี้หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90% แต่อัตราการผิดนัดยังอยู่ที่ 3.9%

“ก่อนโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของเราอยู่ระดับ 78% เราขึ้นมา 91% ขณะที่มาเลเซียก่อนโควิดอยู่ที่ 82% ตอนนี้ลงมาที่ 73% ได้ เพราะเขาผลิตน้ำมัน ฉะนั้นการที่ราคาน้ำมันจะทำให้รายได้ของคนมาเลย์ลดลง ไม่ค่อยเกิด เพราะรัฐบาลเขาอุดหนุน ส่วนเกาหลีตอนนี้ก็ทะลุ 100% อีกแล้ว ด้านสิงคโปร์ไม่ค่อยกระทบหนักอย่างเรา หนี้ครัวเรือนเขาก็ลดลง แต่ที่น่าสนใจคือ เกาหลีที่ตอนนั้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างเต็มที่ แต่ต่อมาเกิดปัญหาการว่างงาน และ แบงก์ก็เริ่มมีหนี้เสียมากขึ้น ลูกหนี้ก็คืนหนี้ไม่ไหว ตอนนั้นเป็นวิกฤตคู่เลย เจ้าหนี้ก็เป๋ ลูกหนี้ก็เป๋ แต่สิ่งที่ทำให้ถล่มลงมา คือ รายได้คนที่ลดลงเร็วมาก เมื่อเทียบกับหนี้ที่มี อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลและต้องจับตา เพราะไทยกำลังมีอาการแบบนั้นคือ รายได้ลดลง เพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น”

นายปิติ กล่าวว่า เดือนหน้า ดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นแน่นอน เพราะสัญญาณมาชัดเจนแล้ว ซึ่งตรงนี้น่ากังวล และ ต้องมาดูว่าทำอย่างไรจะช่วยกันลดภาระให้คนกลุ่มล่างนี้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตหนี้ครัวเรือนขึ้นมาได้ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเกิด จึงมีประสบการณ์เรื่องนี้น้อยมาก

ทั้งนี้ สิ่งที่ทางสมาคมธนาคารไทยกำลังผลักดันกัน ก็คือ การแก้หนี้ครัวเรือน เพราะหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงสุด คือหนี้นอกระบบ หรือหนี้จากผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) โดยพยายามทำโครงการรวมหนี้ เพื่อให้ภาระของลูกหนี้ในการผ่อนต่อเดือนลดลง นอกจากนี้ เจ้าหนี้กับลูกหนี้ก็ต้องเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กัน

“ก็ใช่ที่แบงก์ชาติพยายามไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่ขึ้น เงินก็จะไหลออก ค่าเงินก็ร่วงลงไปเรื่อย ๆ แล้วจะทำให้เงินเฟ้อขึ้นอยู่ดี ตอนนี้เป็นอะไรที่เรียกว่า ขว้างงูไม่พ้นคอ ทำด้านหนึ่ง ก็เจ็บอีกด้านหนึ่ง”

นายปิติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ใกล้เวลาที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังเตรียมทำแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งตนอยากชวนให้ทำแผนที่มีการประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ 3 ฉากทัศน์ไว้ด้วย คือ 1.การยกระดับ บานปลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 มีโอกาสเกิดได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะกระทบซัพพลายเชนไปทั่วโลกแน่นอน จะส่งผลให้เกิดปัญหาการค้าระหว่างประเทศ 2.หากความขัดแย้งไม่จบ ก็จะเหนื่อยกันยาว เพราะวิกฤตพลังงาน เงินเฟ้อ ก็จะลากยาว เช่นเดียวกับที่เคยเกิดในอดีต และ 3.โอกาสคลี่คลายแบบซอฟต์แลนดิ้ง

“ผมอยากให้ใส่ 3 ฉากทัศน์นี้ไว้ในแผนธุรกิจ แล้วดูว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราอย่างไร แล้วคอยเฝ้ามอนิเตอร์ ไม่ว่าออกประตูไหน แล้วเราจะไปแนวไหน ซึ่งทุกวิกฤตมีโอกาส เพราะมีทั้งคนอ่อนแอ และคนแข็งแรง โดยคนแข็งแรงจะได้เปรียบจากการทำ M&A (ควบรวมกิจการ) เพราะจะได้ของถูก และ ทำให้ตัวเองแข็งแรงมากขึ้น ดังนั้นถ้าเราเตรียม 3 ฉากทัศน์นี้ไว้ในแผนธุรกิจ โอกาสจะมา”

นายปิติ กล่าวด้วยว่า สำหรับอุตสาหกรรมแบงก์ ที่ผ่านมามีการเตรียมพร้อมกันมาเยอะมาก หากเทียบกับสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง แบงก์มีทุนที่แข็งแกร่งขึ้นมาก ทำให้ในช่วงวิกฤตโควิดสามารถช่วยประคองลูกหนี้ได้ แต่สมัยต้มยำกุ้งวิกฤตทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้

“ตอนนี้แบงก์ค่อนข้างแข็งแกร่ง และพร้อมพยุงลูกหนี้ไปยาว ๆ แต่การพยุง ไม่ใช่คำตอบ เพราะว่าประเทศขับเคลื่อนด้วยภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ใช่ภาคการเงิน ดังนั้น อยากชวนเรียลเซ็กเตอร์ทำ 3 ซินเนอริโอนี้ อย่าไปแทงแต่ว่า ปีหน้าต้องดีขึ้น เพราะเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว” นายปิติกล่าว

  • หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 3 บริษัทยักษ์ “ไมเนอร์-ดุสิต-สยามพิวรรธน์” แห่ระดมทุนขาย
  • หุ้นกู้แสนสิริ 2,000 ล้าน “เศรษฐา” เผยเปิดจองหมดภายใน 8 นาที
  • วิกฤตค่าเงินจ๊าต เมียนมา “กอบศักดิ์” เผยรัฐห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย

อ่านข่าวต้นฉบับ: ซีอีโอ ทีทีบี เตือนรับมือ “หนี้ครัวเรือน” ระเบิด ชี้ “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย” เป็นตัวเร่ง

     

คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้


Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้

spot_imgspot_img
RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Technical Summary Widget Powered by Investing.com

ANALYSIS TODAY

Translate »