แม้ว่าครึ่งปีแรกตลาดทุนจะเต็มไปด้วยความผันผวน แต่บรรดากองทุนประหยัดภาษียังคงมีเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนที่ออกมาติดลบ ทำให้บรรดาผู้ลงทุนที่จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มวัยใกล้เกษียณอายุอดวิตกกังวลไม่ได้
โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 2565 พบว่ากองทุนเพื่อการออม (SSF) และกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1,500 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 1,300 ล้านบาท ทำให้โดยรวมรอบครึ่งปีแรกยังมีเงินไหลเข้าสุทธิที่สูงกว่าปี 2564 อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนจากการลงทุนยังกดดันให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) หดตัวลง โดย NAV ลดลง 7% จากสิ้นปี 2564 และหดตัว 6.1% จากไตรมาสแรกของปีไปอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท
เงินไหลเข้า SSF หุ้นนอกมากสุด
“ชญานี” กล่าวว่า กลุ่มกองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการลงทุนแบบ SSF มากที่สุดรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกกองทุนกลุ่มนี้ยังมีเงินไหลเข้าสุทธิ แต่อยู่ในช่วงผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้ง 3 เดือนและครึ่งปี ทำให้ NAV หดตัวลง 0.7% จากสิ้นปีที่แล้ว
ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมากลุ่มกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ (Global Equity) มีผลตอบแทนติดลบต่อเนื่องและรุนแรงกว่าไตรมาสแรก โดยผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือน สะสมอยู่ที่ -28.7% แม้ว่าจะมีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 6 เดือนระดับ 700 ล้านบาทก็ตาม แต่ NAV ยังหดตัวลงไปอยู่ที่ 7,700 ล้านบาท ทางด้านกองทุนหุ้นจีนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงขึ้น 3.0% จากสิ้นปีที่แล้ว หรือ 12.7% จากไตรมาสแรก
“สะท้อนผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจีนที่ดีกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสมรอบครึ่งปีเป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่ารวมเกือบ 400 ล้านบาท”
จีนคลายล็อกหนุนเงินไหลเข้า RMF
ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มี NAV รวม 3.7 แสนล้านบาท ลดลง 6.4% จากสิ้นปี 2564 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1,800 ล้านบาท ซึ่งมาไหลเข้าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากช่วง 3 เดือนแรกไหลออก นำโดยกองทุนตราสารทุน 1,900 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนผสมและกองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิ ทำให้โดยรวมกองทุน RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิในครึ่งปีแรกระดับ 200 ล้านบาท
“กลุ่มกองทุน RMF ที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หลังจากที่ในช่วงไตรมาสแรกมีเงินไหลออกเป็นส่วนใหญ่ คือกองทุนหุ้นจีน ด้วยมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท โดยในช่วงเดือน มิ.ย.เป็นต้นมาเริ่มมีเม็ดเงินเข้าลงทุนหุ้นจีนแบบเร่งตัวขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มคลายล็อกดาวน์ในประเทศจีน ทำให้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสะสมสูงสุดในครึ่งปีแรกที่ 1,800 ล้านบาท”
ลุ้นครึ่งปีหลังเงินเข้า SSF มากขึ้น
“ชญานี” กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีแรกจะเห็นเงินไหลเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุน SSF ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากภาพของตลาดที่ปรับตัวลง ทำให้นักลงทุนระยะยาวสนใจเข้ามาลงทุนในกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้น แต่เงินที่ไหลเข้าเมื่อเทียบดูอย่างจริงจัง จะเห็นว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ 2564 มากนัก
ขณะที่ในภาพของครึ่งปีหลัง ทิศทางของเงินลงทุนยังคงไหลเข้ามาในทิศทางที่ไม่ต่างจากในครึ่งปีแรก และคาดว่ามีโอกาสที่เงินจะไหลเข้ามามากกว่าปีก่อน เนื่องจากยังคงมีปัจจัยลบที่กดดันตลาด ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยที่กดดันต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้นักลงทุนก็จะยังมองการลงทุนใน SSF-RMF อยู่ เพราะเชื่อว่าเงินเฟ้อคงไม่ได้ลากยาวนานจนเกินไป ต้องมีจุดสิ้นสุด ดังนั้นตลาดมีโอกาสฟื้นกลับมาได้
“แม้ว่าผลตอบแทนในระยะสั้นที่เห็นจะติดลบ แต่ด้วยภาพที่เป็นการลงทุนระยะยาว 10 ปี เชื่อว่าภาพตลาดและผลตอบแทนที่เคยติดลบก็จะกลับมาดีขึ้น ทั้งนี้ SSF เป็นการลงทุนระยะยาว อาจจะเห็นผลตอบแทนติดลบได้ในบางช่วง ผู้ลงทุนจึงควรวางแผนการลงทุนให้เหมาะกับช่วงอายุ หรือใช้ประโยชน์จากการสับเปลี่ยนกองทุนได้ หากต้องการปรับพอร์ตตามความเสี่ยงหรือตามสถานการณ์ และควรคำนึงถึงสภาพคล่องส่วนบุคคลก่อนตัดสินใจลงทุน”
“รีเทิร์นติดลบ” ความเสี่ยงระยะสั้น
ขณะที่ “สาห์รัช ชัฏสุวรรณ” ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ทิสโก้ กล่าวว่า การที่กองทุน SSF-RMF มีผลตอบแทนติดลบ เป็นเพียงความเสี่ยงระยะสั้นของตลาดช่วงนี้ที่บรรยากาศไม่ค่อยดี ซึ่งการลงทุนประเภทนี้เป็นการลงทุนระยะยาว ต่อไปความผันผวนของตลาดหุ้นก็น่าจะลดลง
“นักลงทุนไม่ต้องกังวลมาก หลังจากผ่านความกังวลปัจจัยลบต่าง ๆ เชื่อว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งเป็นโอกาสทยอยสะสมได้”
สำหรับคำแนะนำลงทุน กลุ่มที่สามารถลงทุนได้ท่ามกลางปัจจัยลบต่าง ๆ คือ กลุ่มเฮลท์แคร์ที่ค่อนข้างจะมีกำไรเสถียร และไม่แกว่งไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีที่ปีหน้าดอกเบี้ยอาจจะปรับเป็นขาลง ซึ่งกลุ่มนี้เคยปรับฐานลงมามาก จึงน่าจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ ขณะที่หากโฟกัสการลงทุนไปที่รายประเทศ ตลาดหุ้นเวียดนาม-จีน ถือว่าน่าสนใจที่สุด
“เวียดนามมีการเติบโตในแง่ของ GDP และในแง่ของเม็ดเงินลงทุน ขณะที่จีนไม่ได้มีปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อ และครึ่งปีหลังจีนก็มีภารกิจที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น จึงทำให้อัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” นายสาห์รัชกล่าว
- เปิด 3 แนวทางจัดพอร์ตการลงทุน SSF-RMF ตามความเสี่ยงที่เหมาะสม
- นายก บลจ. จับทิศลงทุน ครึ่งปีหลัง “เอเชีย” ฟื้น-เงินเฟ้อพีก
อ่านข่าวต้นฉบับ: SSF-RMF รีเทิร์นติดลบ กองทุนระยะยาว VS ความเสี่ยงระยะสั้น
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้