บมจ.ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO) พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รับแนวโน้มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และค่าระวางเรือในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น จุดแข็งด้านเครือข่ายพันธมิตรใน 165 ประเทศ และ OTI License ส่งเสริมความสามารถการแข่งขันในการให้บริการแก่ลูกค้าด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ ปลอดภัย ตรงตามเวลาที่กำหนด เชื่อมต่อตลาดการค้าและส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ด้านโบรกฯ ประเมินราคาเหมาะสมอยู่ที่ 1.95-2.30 บาทต่อหุ้น
นายนันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SINO เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าเข้า SET ขับเคลื่อนการเติบโตสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรของประเทศไทย และขยายความครอบคลุมไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันจากการเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างครบวงจร ให้บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ครอบคลุมทั้งทางทะเล ทางอากาศ และทางบก
รวมถึงการให้บริการให้เช่าคลังสินค้า การให้บริการด้านพิธีการศุลกากรและการให้บริการสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ตอบสนองความต้องการของตลาดในการให้บริการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางทั่วโลก (End-to-End Global Logistics) รองรับโอกาสของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในครึ่งปีหลังที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันข้อมูลจากผู้ประกอบการสายเดินเรือและ Shanghai Containerized Freight Index ประเมินว่าราคาค่าระวางเรือมีแนวโน้มทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
SINO เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่ในเส้นทางไทย-สหรัฐอเมริกาที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมายาวนานกว่า 10 ปี ด้วยความชำนาญการให้บริการบนเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลมากกว่า 100 ประเทศ โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ เส้นทางไทย-โซนอเมริกาเหนือ เส้นทางไทย-เอเชีย และเส้นทางไทย-ยุโรป ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลักในการส่งออกและนำเข้าสินค้าหลักของการค้าโลก โดยมีเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นตัวแทนของบริษัทฯ ในต่างประเทศมากกว่า 165 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งบริษัทเดินเรือ บริษัทสายการบิน และตัวแทนการจัดการขนส่งในประเทศต่างๆ
รวมถึงมี OTI License (Ocean Transport Intermediary) จาก Federal Maritime Commission (FMC) และได้วางหลักประกัน FMC Bond จึงสามารถทำสัญญาการบริการกับสายเดินเรือในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศแถบโซนอเมริกาเหนือได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้ SINO สามารถนำเสนอโซลูชันการให้บริการขนส่งสินค้าทั้งในรูปแบบการขนส่งแบบเต็มตู้ (Full Container Load: FCL) และแบบไม่เต็มตู้ (Less Than Container Load: LCL) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติมในเส้นทางขนส่งไปทางทวีปต่างๆ เช่น ยุโรป ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลางและเอเชีย เป็นต้น พร้อมนำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เช่น ระบบ WMS เพื่อใช้บริหารจัดการคลังสินค้า การพัฒนางานขนส่ง ISO Tank ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุของเหลวเพื่อเพิ่มความหลากหลายการให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ การนำระบบ GPS เพื่อใช้ติดตามตำแหน่งรถในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงบันทึกและควบคุมความเร็วในการขับขี่ให้มีความเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“เรามุ่งเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร ภายใต้แนวคิด Sync The world โดยนำเสนอโซลูชันการให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรอย่างมืออาชีพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด ด้วยมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและตรงต่อเวลา เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายนันท์มนัส กล่าว
ด้านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ประกอบด้วย บล.ฟินันเซีย ไซรัส บล.กรุงศรี พัฒนสิน บล.โกลเบล็ก บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) บล.ดาโอ (ประเทศไทย) บล.บียอนด์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) และ บล.เอเซีย พลัส ประเมินราคาเหมาะสมของราคาหุ้น SINO อยู่ที่ 1.95-2.30 บาทต่อหุ้น สะท้อนถึงพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการดำเนินกลยุทธ์สร้างการเติบโตจากแผนขยายธุรกิจ Sea Freight ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับกิจกรรมการผลิตของฐานลูกค้าเดิม การขยายตู้บรรจุของเหลว ISO Tank และการขยายพื้นที่รับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ที่จะช่วยส่งเสริมการให้บริการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link