ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นกว่า 100 จุด ทะลุแนว 35,000 จุด โดยปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ขานรับคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด
ณ เวลา 20.54 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,015.25 จุด บวก 162.58 จุด หรือ 0.47%
นอกจากนี้ ตลาดได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะช่วยเพิ่มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การที่ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นในขณะนี้ เกิดจากปรากฏการณ์ “ข่าวร้ายคือข่าวดี” เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จะทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมเศรษฐกิจ
“ขณะนี้ตลาดได้กลับสู่สภาวะการลงทุนแบบ ‘ข่าวร้ายคือข่าวดี’ ซึ่งมักเกิดขึ้นในขณะที่นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของเฟด โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาจะลดแรงกดดันในช่วงขาขึ้นต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น” นายโซนู วาร์เกส นักวิเคราะห์ของบริษัทคาร์สัน กรุ๊ปกล่าว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2566 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.4% และต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 2.4% หลังจากมีการขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 1
ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยในวันนี้ว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 177,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ตัวเลขจ้างงานดังกล่าวต่ำกว่าเดือนก.ค. ซึ่งมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 371,000 ตำแหน่ง
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยวานนี้ว่า ผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 338,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.827 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 9.465 ล้านตำแหน่ง
ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่ำกว่าระดับ 9 ล้านตำแหน่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564
นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้น 170,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. จากระดับ 187,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.5%
ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ระบุว่า เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ
ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันศุกร์ที่ผ่านมา นายพาวเวลกล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินไป และเฟดเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวเสริมว่า เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยการประเมินข้อมูลที่เฟดได้รับ รวมทั้งแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
“การดำเนินการน้อยเกินไปจะทำให้เงินเฟ้อที่อยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดฝังตัวลึก และจะยิ่งทำให้เฟดต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อขจัดเงินเฟ้อออกจากเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน”
“ส่วนการดำเนินการที่มากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจเกิดผลกระทบโดยไม่จำเป็น” นายพาวเวลกล่าว
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 88.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 11.5% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนพ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 43.3% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%
ส่วนในเดือนธ.ค. นักลงทุนให้น้ำหนัก 51.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนักเพียง 40.0% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link