ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่าคาดการณ์ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า ขานรับมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังกนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/8) ที่ระดับ 35.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/8) ที่ระดับ 35.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนกรกฎาคม 65 ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 8.5% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.7% และปรับตัวลดลงจากระดับ 9.1% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์และกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 61.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนนี้ และให้น้ำหนักเพียง 38.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ที่เคยให้น้ำหนักถึง 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขานรับมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดที่ 0.25% มาอยู่ที่ 0.75% โดยคณะกรรมการเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 65 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับปกติเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด
ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.รอบหน้าในเดือน ก.ย. 65 จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.3% ขณะเดียวกัน คาดว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะเริ่มทยอยลดลง หลังจากปัจจัยด้านอุปทานคลี่คลาย แต่อย่างไรก็ดี กนง.จะยังจับตาสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกรกฎาคม 65 อยู่ที่ระดับ 42.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 41.6 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.16-35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (11/8) ที่ระดับ 1.0300/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/8) ที่ระดับ 1.0225/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลต่อการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0276-1.0341 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0337/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/8) ที่ระดับ 132.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/8) ที่ระดับ 134.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลต่อการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.44-133.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. ที่จะเปิดเผยในวันนี้ และราคานำเข้าและส่งออกเดือน ก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ส.ค. ในวันพรุ่งนี้
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.50/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเฟ้อสหรัฐ แผ่วลงที่ 8.5% ข่าวดีขาลง หรือแค่พักร้อนชั่วคราว
- พันธบัตรรุ่นออมเพิ่มสุข รอบพิเศษ เช็กดอกเบี้ย ยอดขั้นต่ำ ช่องทางการจอง
อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่าคาดการณ์
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้