หลังจากกัญชา กัญชง ได้รับการปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด วันที่ 9 มิ.ย. 2565 จนถึงขณะนี้ยังเป็นช่วงสุญญากาศที่ “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …” ยังลูกผีลูกคน อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ คาดว่าในเดือน ส.ค. 2565 จึงจะผ่านความเห็นชอบ หลายคนจึงตั้งคำถามว่าจากนี้อนาคตการเปิดเสรีกัญชาประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผลสำรวจทั่วประเทศ “ทัศนะของประชาชนต่อนโยบายกัญชาเสรี” ที่จัดโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจระหว่างวันที่ 5-15 กรกฎาคม 2565 กลุ่มตัวอย่าง 1,215 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีไปถึงเกินกว่า 60 ปี ทั้งชายและหญิง ในอาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ
หลังจากที่มีการปลดล็อกประชาชนส่วนใหญ่ 78.2% ยังไม่เคยใช้กัญชา จะมีเพียง 12.1% ที่เคยได้ทดลองใช้ในช่วงไม่เกิน 1 เดือนที่ผ่านมา โดยบริโภคเครื่องดื่ม 34% อาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว 26.3% ขนม คุกกี้ 19.7%
เป็นที่น่าสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยใช้กัญชา แต่มีทัศนคติ “ที่ไม่เห็นด้วย” ต่อการเปิดเสรีกัญชาถึง 58.3% ถือว่าสูงเกินกึ่งหนึ่ง
ความกลัวจากความไม่รู้
เมื่อสอบถามประชาชนถึงความรู้เกี่ยวกับกัญชา พบว่า ระดับความรู้ต่างกัน โดยมีคนที่มั่นใจว่ารู้เรื่องกัญชาอย่างมากอยู่เพียง 19.6% นั่นหมายความว่า 80% มีความรู้เกี่ยวกับกัญชาระดับปานกลาง-น้อย
“ความไม่รู้” ทำให้เกิดความกังวล โดยสิ่งที่ประชาชนกังวลเกี่ยวกับกัญชา มีทั้งเรื่องการใช้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน การเสพติด การใช้เกินขนาด ผลต่อสุขภาพ และปัญหาสังคม นำมาสู่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและเด็กเยาวชน (ตามกราฟิก)
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจในมุมที่ว่า หากแพทย์สั่งยาที่มีส่วนผสมของกัญชา ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 60.5% ตัดสินใจจะไม่ใช้ เพราะกังวลผลข้างเคียง กลัวใช้ผิด ยังไม่มีผลวิจัยที่เพียงพอ ส่วนที่ตอบว่าใช้ 29% เพราะอยู่ในการดูแลของแพทย์ สนับสนุนเกษตรกร และอีก 10.5% ยังไม่แน่ใจ เท่ากับว่า ความกังวลนำไปสู่การปฏิเสธ
ดังนั้น ไม่ว่ากัญชาจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากเพียงใด “ตลาด” ก็อาจจะไม่เกิด หากไม่สามารถขจัดความกังวลให้หมดไปได้
พืชเศรษฐกิจตัวใหม่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุว่า พืชกัญชา กัญชง จะสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยให้กับเกษตรกรประมาณ 800,000-1.2 ล้านบาทต่อปีต่อไร่ ในอีก 3 ปีข้างหน้า มีผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจ 30,000-50,000 ล้านบาท โตเฉลี่ย 15% เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับนโยบายในการส่งเสริม และมีความต้องการใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า หลังรัฐปลดล็อกกัญชา ทำให้มีการปลูกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหอการค้าไทย พบว่า มีผู้ขออนุญาตปลูกกัญชง 2,041 ฉบับ จำนวน 877 ราย คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 4,845 ไร่ และกัญชามีการขออนุญาต 458 ฉบับ จำนวน 397 ราย คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 110 ไร่ และคาดการณ์ว่าในปีนี้อุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่า 28,055 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็น 1.ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ 9,615 ล้านบาท ช่อดอกแห้ง 8,123 ล้านบาท ใบแห้ง 1,128 ล้านบาท เมล็ด 140 ล้านบาท ส่วนอื่น ๆ 224 ล้านบาท 2.ผลิตภัณฑ์กลางน้ำสารสกัดเข้มข้น 12,410 ล้านบาท น้ำมันกัญชา/น้ำมันกัญชง 1,383 ล้านบาท เส้นใยกัญชง 896 ล้านบาท 3.ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำยารักษาโรคและอาหารเสริมมีมูลค่า 1,500 ล้านบาท อาหารและเครื่องดื่ม 1,200 ล้านบาท เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล 800 ล้านบาท เครื่องนุ่งห่มและของใช้ส่วนตัว 250 ล้านบาท
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับความนิยมสูงสุด คือ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง แชมพู ครีมสูตรสมุนไพร ส่วนกัญชง นิยมนำไปทำเครื่องนุ่งห่ม เพราะจะใช้ตัวใยเป็นผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าได้จากมีความเหนียวที่มากกว่าใยฝ้าย ทั้งยังสามารถนำมาขายทั้งช่อดอก เมล็ด ใบ และต้นแห้ง
“อีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2568 มูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็น 42,851 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจะเติบโตเร่งกว่าปัจจุบัน มีโอกาสเติบโตเป็นเลข 2 หลัก หรือ 10-15% ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 800,000 บาทถึง 1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี เทียบกับปลูกข้าวจะมีรายได้เพียง 10,000-15,000 บาทต่อปี”
ติดเทรนด์อันดับ 1 ในกูเกิล
นายพงษ์เพชร นิลจินดามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท Feedback 180 (องศา) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังจากประเทศไทยปลดล็อกกัญชา วันที่ 9 มิ.ย. 65 ทำให้เกิดคำค้นหา “กัญชา” ทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงที่สุดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 และยังติดอันดับ 1 ยาวไปจนถึงวันที่ 27 มิ.ย. 2565 สะท้อนถึงแนวโน้มการค้นหาเกี่ยวกับกัญชาทั่วโลกเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ประเทศไทยประกาศปลดล็อก
กลุ่มที่มีการพูดถึงกัญชามากที่สุด คือ เพศชาย 73% เพศหญิง 27% ช่วงอายุ 18-24 ปี มากที่สุด และช่องทางที่ใช้ คือ Facebook 73% ทวิตเตอร์ 11% โดยฝั่งผู้ผลิตจะค้นหาคำว่า “การลงทะเบียน-กัญชา” มากที่สุด ส่วนผู้บริโภคจะค้นหาคำว่า “ซื้อ-กัญชา” มากที่สุด
“กัญชาเป็นความหวังใหม่ทางธุรกิจที่นำมาปลูกเพื่อใช้ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำมันกัญชา ยาแผนไทย เครื่องสำอาง แต่ก็มาพร้อมความกังวลต่อเยาวชน ซึ่งผู้บริโภคคาดหวังความชัดเจนเรื่องกฎหมายการควบคุมการซื้อขาย รวมไปถึงการอุดช่องว่างทางกฎหมายที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบในอนาคต”
ทางออกสำคัญรัฐเร่งให้ไออความรู้ความเข้าใจถึงผลดี-ผลเสียในระยะสั้นและระยะยาว และกำหนดปริมาณการบริโภค ควรมีการกำหนดกลุ่มอายุการใช้ สถานที่ในการใช้ พร้อมมีบทลงโทษที่ใช้มากเกินปริมาณที่กำหนด เพื่อที่ในอนาคตไทยอาจจะต่อยอดและโอกาสทางธุรกิจจากพืชชนิดนี้ได้
- ไทยเตรียมดันกฎหมายห้ามผลิต-นำเข้าบุหรี่ผสมกัญชา
- เตือน ! นำเข้ากัญชาต้องผ่าน “ศุลกากร” ไม่มีใบอนุญาตรับโทษทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวต้นฉบับ: อย่าให้ “ความไม่รู้” ทุบอนาคต “กัญชาทางการแพทย์”
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้