ดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป คาดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสัปดาห์นี้ ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.62/63 บาท
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/7) ที่ระดับ 36.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/7) ที่ระดับ 36.62/63 บาท
ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บางรายแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในเดือนนี้ แทนที่จะปรับขึ้นอย่างรุนแรงถึง 1.00%
โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 33.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคม และให้น้ำหนัก 66.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.64% แตะที่ระดับ 106.68
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่เปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 2% ในเดือนมิถุนายน สู่ระดับ 1.559 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.580 ล้านยูนิต
ทั้งนี้ ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านที่ลดลงนั้นได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และราคาวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.53-36.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (20/7) ที่ระดับ 1.0232/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/7) ที่ระดับ 1.0253/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อวานนี้ จากปัจจัยหนุนที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสัปดาห์นี้
โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ ECB กำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ หลังมีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน สูงถึง 8.6%
อย่างไรก็ดีตลาดยังคงกังวลหลังแหล่งข่าวเปิดเผยว่า ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งก๊าซสำคัญจากรัสเซียไปยังยุโรป ปิดดำเนินงาน เพื่อซ่อมบำรุงถึงวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ เจ้าหน้าที่จำนวนมากของยุโรปต่างไม่แน่ใจว่า รัสเซียจะกลับมาจัดส่งก๊าซให้กับยุโรปแบบเต็มศักยภาพดังเช่นที่ผ่านมาหรือไม่
ด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียเปิดเผยในวันนี้ว่า ศักยภาพในการส่งของท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 อาจจะลดลงอีก เนื่องจากกระบวนการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ของท่อส่งก๊าซแห่งนี้ดำเนินไปอย่างล่าช้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0217-1.0273 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0238/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/) ที่ระดับ 138.30/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับปัจจัยกดดันจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.89-138.17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐด้านอื่น ๆ ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิถุนายน (20/7), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (20/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (21/7), ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเฟีย (21/7) และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนกรกฎาคม (22/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.5/-6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.75/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
- อิหร่าน ประกาศรับเงินรูเบิล ซื้อขายแลกเปลี่ยน ต้อนรับปูตินเยือนเตหะราน
อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้