หน้าแรกTHAI STOCKเปิดข้อมูลงานวิจัยสู่เกษตร มูลค่าสูง 5 ปี ต่อยอดรายได้ประเทศกว่าล้านล้านบาท

เปิดข้อมูลงานวิจัยสู่เกษตร มูลค่าสูง 5 ปี ต่อยอดรายได้ประเทศกว่าล้านล้านบาท


เปิดข้อมูลพืชเกษตร ตลาดนำการวิจัยเกษตรมูลค่าสูง กรมวิชาการเกษตร เผย 5 ปี สร้างมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาท เร่งเครื่องเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน สร้างความมั่นคงทางอาหารประเทศ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ชื่นชมผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและสิ้นสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2564) โดยผลงานกรมวิชาการเกษตร “DOA Together for BCG and Food Security กรมวิชาการเกษตรร่วมใจ มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อความมั่นคงทางอาหารสามารถส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย SME รายใหญ่ และอุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาท

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าว มีมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กว่า 1.2 แสนล้านบาท ไม้และผลิตภัณฑ์ 1.5 แสนล้านบาท ข้าว 1.3 แสนล้านบาท ยางพาราและผลิตภัณฑ์ 1.4 แสนล้านบาท ทุเรียนและผลไม้สด 1.7 แสนล้านบาท ผลไม้แห้ง กล้ายไม้สด ผักสด และ ผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ กว่า 3 แสนล้านบาท

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรไม่น้อยกว่า 900 เทคโนโลยี อาทิ พืชพันธุ์ใหม่ รองรับตลาดเฉพาะและภาคอุตสาหกรรม 16 ชนิด (49 พันธุ์) พืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพในอนาคต 19 ชนิด พร้อมทั้งเทคโนโลยีการผลิตพืชท้องถิ่น 41 ชนิด พืช GI 9 ชนิด เพื่อพัฒนาเชิงการค้าและความมั่นคงทางอาหาร ด้านเครื่องจักรกลการเกษตร มีเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่กว่า 50 ต้นแบบ อาทิ เครื่องพ่นแบบใช้แรงลมช่วยสำหรับพ่นป้องกันหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เครื่องหยอดเมล็ดพืชและปุ๋ยอัตโนมัติ โรงเรือนอัจฉริยะควบคุมสภาวะอากาศอัตโนมัติ

ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตรกรรม เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 20-50 % พัฒนาไปสู่ Web application ระบบพยากรณ์ผลผลิตไม้ผลเศรษฐกิจ ระบบให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน ระบบประเมินการระบาดของศัตรูมันสำปะหลัง เตรียมพร้อมงานวิจัย รองรับวิกฤตภัยแล้งและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ สร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว

โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่มีความต้องการใช้ในประเทศสูงถึง 4.02 ล้านตัน สร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดการนำเข้าถั่วเหลือง ร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ของอาเซียน เชื่อมโยงการขับเคลื่อนผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน

​การแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีการปรับปรุงพันธุ์ทนทาน การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อควบคุมการระบาด การป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดมีคำแนะนำให้คลุกเมล็ด การพ่นสารเคมี และพ่นชีวภัณฑ์ มีเครื่องพ่นแบบอุโมงค์ลมสำหรับพ่นป้องกันการแพร่ระบาด ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรและค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

​ด้านนวัตกรรมใหม่ มีการพัฒนาชุดตรวจสอบศัตรูพืชแบบแม่นยำสูง วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการเจรจาเปิดตลาดสินค้า จัดทำมาตรการสุขอนามัยพืชในการนำเข้าส่งออกสินค้าพืช ซึ่งส่งผลต่อตลาดเมล็ดพันธุ์และตลาดสินค้าเกษตร มูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี

การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจใหม่ คือ กัญชาเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ทั้งในด้านการพัฒนาสายพันธุ์ ที่มี CBD หรือ THC สูง และกระท่อม รวมทั้งการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีจีโนมิก เพื่อศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับสารสำคัญ มีตลาดยารักษาโรค สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารทางเลือกรองรับ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม แบบเบ็ดเสร็จ สายด่วน 1174 ให้ผู้สนใจสอบถามข้อมูล

ด้านสถานการณ์ส่งออกสินค้าพืช เพียง 5 เดือนแรกของปี 2565 มียอดการส่งออกกว่า 15.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 469,178.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.57% (เทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2564) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าพืชของประเทศไทย จับมือกับ กลุ่มพันธมิตรทั่วโลก เปิดตัวระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ “e Phyto” นำร่องเปิดใช้งานส่งออกพืช 22 ชนิดไปจีนพบกระแสดีเกินคาด สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกร เป็นการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ เปิดให้บริการครอบคลุมทุกสินค้าทุกประเทศทั่วโลก

มาตรการ GMP plus ให้โรงคัดบรรจุนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด 19 ไปกับตู้สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผลไม้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศจีน สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยปี 2565 มีปริมาณการส่งออกระหว่าง 1 ก.พ. – 5 มิ.ย. 2565 (5 เดือนแรก) ปริมาณ 433,809.92 ตัน
ด้านการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร จัดตั้ง “คลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่” (DOA Mobile Clinic) บริการต่ออายุ ใบอนุญาต GAP ใบรับรองแหล่งผลิตพืขอินทรีย์ ให้คำปรึกษาทางด้านการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เกษตรกรสมัครใหม่และต่ออายุกว่า 2,500 ราย

“ท่านมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้กำชับให้เร่งเดินหน้างานวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชสู่เป้าหมายเกษตรมูลค่าสูง เน้นการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีศักยภาพสูง การใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเกษตรอัจฉริยะ การแปรรูปสร้างมูลค่าและแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตพืช เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ”

อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดข้อมูลงานวิจัยสู่เกษตร มูลค่าสูง 5 ปี ต่อยอดรายได้ประเทศกว่าล้านล้านบาท

     

คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้


Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Technical Summary Widget Powered by Investing.com

ANALYSIS TODAY

Translate »