ครึ่งทางแรกปี 2565 นี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยทำกำไรกันได้ดีขึ้น โดยภาพรวม 10 แบงก์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB), บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB T) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (L H BANK) ทำกำไรสุทธิรวมกันงวดครึ่งปีที่ 105,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) กว่า 8%
แม้ว่าเฉพาะงวดไตรมาส 2/2565 จะชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกปีนี้ก็ตาม
กำไรแสนล้าน “กสิกรฯ” สูงสุด
โดย 6 เดือนแรกปีนี้กำไรของระบบแบงก์ไทยฟื้นกลับมา ทะลุแสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้กว่า 97,000 ล้านบาท
สำหรับแบงก์ที่กำไรมากสุดช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ กสิกรไทยกำไรสุทธิ 22,005 ล้านบาท รองลงมาไทยพาณิชย์ 20,095 ล้านบาท ตามด้วยกรุงไทย 17,139 ล้านบาท ซึ่งแต่ละแบงก์กำไรเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะกรุงไทยกำไรโตกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนเกือบ 50% มีกรุงศรีที่มีกำไร 15,252 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 27% เนื่องจากปีก่อนมีบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น บมจ.เงินติดล้อ
ส่วนในงวดไตรมาส 2/2565 แบงก์มีกำไรรวมกัน 52,605 ล้านบาท ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่กำไร 53,156 ล้านบาท อย่างไรก็ดี แบงก์ที่ทำกำไรได้สูงสุดในไตรมาส 2 ยังคงเป็นกสิกรไทยอยู่ที่ 10,794 ล้านบาท รองลงมาเป็นไทยพาณิชย์ 10,051 ล้านบาท
4 แบงก์ใหญ่แบก NPL แสน ล.
ขณะนี้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 ยังค่อนข้างทรงตัว โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 539,878 ล้านบาท ขยับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 2,284 ล้านบาท ซึ่งในบรรดา 4 แบงก์ใหญ่ล้วนแบกเอ็นพีแอลในระดับแสนล้านบาททั้งสิ้น โดยกสิกรไทยมีมูลค่าเอ็นพีแอลสูงสุดเทียบกับทุกแบงก์ ซึ่งในไตรมาสนี้ปรับขึ้นมาที่ 109,972 ล้านบาท
ขณะที่แบงก์กรุงเทพเอ็นพีแอลขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 105,046 ล้านบาท ด้านไทยพาณิชย์เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 102,538 ล้านบาท เช่นเดียวกับกรุงไทยที่ลดลงเหลือ 104,434 ล้านบาท ส่วนกรุงศรีเอ็นพีแอลขยับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 48,373 ล้านบาท
ตั้งสำรอง Q2 รับมือ ศก.ผันผวน
ด้านการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัญจะสูญนั้น ในภาพรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ถ้าเทียบไตรมาส 2/2565 กับไตรมาส 1/2565 พบว่าแบงก์มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจาก 43,660 ล้านบาท เป็น 47,189 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 แบงก์ที่ตั้งสำรองสูงสุดคือ ไทยพาณิชย์ 10,250 ล้านบาท ตั้งเพิ่มจากไตรมาสแรกที่ตั้ง 8,750 ล้านนาท รองลงมาคือ กสิกรไทย 9,852 ล้านบาท จากไตรมาสแรก 9,336 ล้านบาท แบงก์กรุงเทพ 8,354 ล้านบาท จากไตรมาสแรก 6,489 ล้านบาท ส่วนกรุงไทย ตั้ง 5,669 ล้านบาท จากไตรมาสแรก 5,470 ล้านบาท
สินทรัพย์ดิจิทัลดิ่งไม่ฉุด SCB
ขณะที่ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาผลกระทบจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ราคาตกลงมาก ว่าจะกระทบกับไทยพาณิชย์หรือไม่นั้น “มาณพ เสงี่ยมบุตร” Chief Finance & Strategy Officer เอสซีบี เอกซ์ และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่ได้มีผลกระทบ และความเสี่ยงยังอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ โดยจะเห็นว่ากำไรในไตรมาส 2 ของ SCBX ยังคงเติบโตถึง 14%
แบงก์ฟื้นตัวระมัดระวัง
“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า กำไรแบงก์ดูดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงลูกค้า ที่สะท้อนมาสู่งบฯของแบงก์ จากการที่รายได้ดอกเบี้ยฟื้นตัว รวมถึงรายได้ธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ที่ไปได้ดีตามการส่งออกที่ขยายตัวดี ขณะที่การตั้งสำรองไม่ได้เพิ่มมาก แต่จะยังเป็นการระมัดระวัง โดยตั้งสำรองใกล้เคียงเดิม
“ผมว่าจริง ๆ แล้ว กำไรแบงก์อาจจะดูดีได้กว่านี้ เพียงแต่ยังตั้งสำรองกันในระดับสูงอยู่ เพราะยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งระบบแบงก์ตั้งสำรองกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ต่อเนื่องมาประมาณ 7 ไตรมาส ตอนนี้ทุกแบงก์ก็ยังคงระมัดระวัง เผื่อสถานการณ์ข้างหน้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งเงินเฟ้อ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงถ้าดอกเบี้ยขึ้น ลูกค้าจะทนไหวไหม”
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 จะพบว่า รายได้ที่ยังไม่ค่อยดี คือ รายได้จากกองทุนรวม เนื่องจากภาวะตลาดค่อนข้างแย่ ส่วนการขายประกันผ่านสาขาธนาคาร เริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้นตามการเปิดประเทศ ส่วนผลกระทบจากการลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ สำหรับแบงก์แล้วยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดงบดุลของแบงก์ จึงไม่เห็นผลกระทบ
ครึ่งปีหลังไม่สดใส-เงินเฟ้อกดดัน
“ครึ่งปีหลัง ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ลูกค้าที่ยังดีอยู่ตอนนี้ แต่เจอเงินเฟ้อ 7-8% ขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่ม จะไปต่อไหวไหม ตรงนี้ต้องจับตา ระมัดระวัง แล้วภาคธุรกิจที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น บางคนก็ส่งผ่านไม่ได้ ตรงนี้ก็เป็นความไม่แน่นอนที่สูง ทั้งนี้ แบงก์ผ่านจุดที่แย่สุดมาแล้ว คือช่วงโควิด แต่ตอนนี้ก็เหมือนออกมาแล้วมาเจอความไม่แน่นอนอีกอย่าง ดังนั้น ครึ่งปีหลังยังไม่น่าจะสดใส แต่เต็มไปด้วยความต้องระมัดระวัง” นายนริศกล่าว
ขึ้น ดบ.กระทบลูกหนี้เปราะบาง
ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” วิเคราะห์ว่า ช่วงครึ่งปีหลัง แม้แรงกดดันต่อธุรกิจหลักอาจผ่อนคลายลงบางส่วนหากเศรษฐกิจทยอยมีสัญญาณดีขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงมีโจทย์ต่อเนื่องในการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางภายใต้สถานการณ์ที่แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศอาจเริ่มขยับขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะแรกของธนาคารพาณิชย์ปรากฏขึ้นในผลิตภัณฑ์สินเชื่อและเงินฝากเพียงบางประเภท
- คลังสั่งคุมเข้ม ศูนย์ซื้อขายคริปโต สกัดโดมิโน-ขาใหญ่เบรกลงทุน
- ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ย้ำทยอยขึ้นดอกเบี้ย ดูแลเศรษฐกิจฟื้น แบบไม่สะดุด
- 6 แบงก์อู้ฟู่ ปัญหาเศรษฐกิจไม่กระทบ โกยกำไรครึ่งปี 9.5 หมื่นล้าน
อ่านข่าวต้นฉบับ: แบงก์กำไรครึ่งปีแสนล้าน สินทรัพย์ดิจิทัลดิ่ง ไม่ฉุด “ยานแม่”
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้