หอการค้า-กรมการจัดหางาน เร่งสปีดแผนนำเข้าแรงงาน รองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ คาดสิ้นปี 2565 นี้ นำเข้าแรงงานต่างด้าว กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติ ครม.อีก 5 แสนคน ถึงสิ้นปีมียอดใช้แรงงานต่างด้าวในไทย 3 ล้านคน
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น 5 แสนคน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อไทยมาตั้งแต่ปี 2562
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน 15 ฉบับ
ซึ่งจากนี้สมาชิกหอการค้าไทย สมาคมการค้า และผู้ประกอบกิจการทั่วประเทศ ควรนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้มีแรงงานที่เพียงพอต่ออุตสาหกรรม ทั้งนี้ มติ ครม.เป็นไปตามข้อเสนอ 6 ด้าน ต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ที่คณะกรรมการเสนอต่อกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติที่ ครม.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ยังมีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประสงค์จะทำงานอย่างถูกต้อง ให้สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66
หากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการ พบว่ายังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน
2.เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้ว และประสงค์ทำงานต่อไป ประมาณ 1,690,000 คน สามารถอยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มมติ ครม. 29 ธันวาคม 63, กลุ่มมติ ครม. 13 กรกฎาคม 64 และกลุ่มมติ ครม. 28 กันยายน 64 โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม
คือ กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 65 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 โดย ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการตรวจลงตรา ที่เดิมสิ้นสุดวันที่ 1 สิงหาคม 65 ไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66
และกลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม 65 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 ทั้งนี้ การดำเนินการของคนทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว
“ตอนนี้มีผู้ประกอบการยื่นขอนำเข้าแรงงาน รวม 277,000 คน ผ่านด่านชายแดน 5 แห่ง ปัจจุบันนำเข้าได้ 20,000 คน ที่ช้าเพราะติดเรื่องโควิด แต่หลังจากเปิดประเทศผ่อนคลายมาตรการโควิด จะช่วยให้การนำเข้าแรงงานสะดวกขึ้น โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาคาดว่าจะมีการนำเข้า 1 แสนคน ภายในสิ้นปีนี้
และผลดีจากการผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังโควิด ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงาน 3,000-4,000 บาท/คน สำหรับกักตัว ฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนได้อีกด้วย จากความร่วมมือและแก้ไขของภาครัฐ เชื่อว่าจะนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มไปจนถึงสิ้นปีรวม 5 แสนคน จากปัจจุบันที่มีแรงงานต่างด้าวในไทย 2.5 ล้านคน ทำให้ไทยมีแรงงานต่างด้าว 3 ล้านคน”
- ไทยขาดแรงงานต่างด้าว 5 แสนคน หอการค้าไทย ยื่นข้อเสนอรัฐเร่งแก้ไข
- สมุทรสาคร สุ่มตรวจเรือประมง ป้องกันการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
- ครม.ขยายเวลาขึ้นทะเบียนต่างด้าว บรรเทาปัญหานายจ้างขาดแรงงาน
- มนุษย์ทองคำปี 2565 ไอที-วิศวะ-บัญชี บริษัทแห่จองตัว
อ่านข่าวต้นฉบับ: เร่งนำเข้าแรงงานรับ เศรษฐกิจฟื้น หอการค้าชี้อุตสาหกรรมขาดอีก 5 แสน
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้