ทำความรู้จัก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์“ ก่อนลงทุนจริง เพื่อปิดประตูความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนที่ใช่
วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) เปิดเผยว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ออกและเสนอขายทั้งหมดจำนวน 2 รุ่น มูลค่าเสนอขายรวม 11,000 ล้านบาท
ขณะที่ในปี 2565 “บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำของประเทศได้เตรียมที่จะออกและเสนอขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เป็นเจ้าแรกในปีนี้ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองไม่น้อย “ประชาชาติธุรกิจ” จึงพานักลงทุนมาทำความเข้าใจหุ้นกู้ชัวนิรันดร์ก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คืออะไร?
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ หรือ Perpetual bond มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน เป็นหุ้นกู้ประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่สูงกว่าตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ทั่วไป แต่ภายใต้ “ผลตอบแทนสูง” ก็มาพร้อมกับ “ความเสี่ยงสูง” เช่นกัน
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ เหมาะกับใคร?
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จะเหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง หรือมีเงินเย็นมากพอสมควรที่จะลงทุน ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะใช้เงินในระยะเวลาอันใกล้ และต้องการที่จะแบ่งเงินมากระจายการลงทุน แต่นักลงทุนต้องคำนึกถึงความเสี่ยงในการรับเงินต้นคืนรวมถึงสภาพคล่องด้วย ซึ่งหากนักลงทุนที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มาก่อน และอาจจะกำลังสนใจอยู่ตอนนี้ ควรที่จะทำความเข้าใจในข้อจำกัดของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์อย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน ดังต่อไปนี้
1.หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ไม่มีกำหนดวันไถ่ถอน
ระยะเวลาการไถ่ถอน หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะไม่กำหนดวันไถ่ถอนไว้ บริษัทผู้ออกจะไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ นั่นหมายความว่า อาจเป็น 20-30 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้ หากบริษัทยังไม่เลิกกิจการไป อย่างไรก็ตามเพื่อเพิ่มความน่าสนใจแก่นักลงทุน จึงกำหนดให้ผู้ออกตราสารประเภทนี้มีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (Call option) เช่น วันครบกำหนด 5 ปี หรือวันชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้แต่ละครั้ง ภายหลังปีที่ 5 ต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปที่จะกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ชัดเจน เช่น หุ้นกู้ อายุ 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น
2.ความเสี่ยงสูง
ลำดับการรับชำระหนี้คืน หากบริษัทล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ซื้อหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่ถือเป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (subordinated) จะได้รับชำระหนี้คืนอันดับถัดจากผู้ซื้อหุ้นกู้ทั่วไป แต่ได้รับก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ หมายความว่าอาจได้รับการชำระคืนเงินต้นทั้งหมด หรือไม่เต็มจำนวน หรือแม้แต่ไม่ได้รับคืนเลยก็ได้ หากบริษัทไม่มีทรัพย์สินเหลือ ดังนั้นจึงเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป
3.ผู้ออกสามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้
สำหรับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ผู้ออกมีสิทธิเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปก่อนได้แม้ว่าบริษัทจะมีกำไร ดังนั้นนักลงทุนอาจไม่ได้รับกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยทุกงวดเหมือนการซื้อหุ้นกู้แบบทั่วไป ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยก็จะลดลงตามไปด้วย แต่หากการจ่ายดอกเบี้ยเป็นไปตามที่กำหนด นักลงทุนก็จะได้รับรายได้ที่สม่ำเสมอเป็นเวลานาน ต่างจากการจ่ายดอกเบี้ยของหุ้นกู้ทั่วไปที่จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่จ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน
ถ้าไม่ต้องการถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์..มีทางเลือกไหม?
หากนักลงทุนไม่ต้องการถือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา หรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้น ๆ ว่าคนยังสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ เป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับได้
ทั้งนี้การลงทุนควรเช็กลิสต์หรือสำรวจตัวเองว่าเหมาะกับการลงทุนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์หรือไม่ อาทิ 1.ทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดที่ขายหุ้นกู้จะให้ผู้ซื้อลงนามรับทราบความเสี่ยงการซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนซื้อ 2.เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสำหรับลงทุนได้ในระยะยาวมาก
3.ศึกษา factsheet และลักษณะของหุ้นกู้ (features) และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เช่น การไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย 4.รู้เครดิตเรตติ้ง และ 5.รู้วิธีขายคืน
สุดท้ายนี้ฝากแง่คิดก่อนลงทุนตามโฆษณาที่เราคุ้นเคยคือการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นก่อนจะลงทุนอะไรควรจะต้องมองให้ขาดว่าบริษัทหรือธุรกิจที่เราจะลงทุนด้วยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนอย่างไร
ทั้งนี้หากนักลงทุนรับรู้ถึงความเสี่ยงและสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่าทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ หนึ่งตัวช่วยในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้ ได้แก่ แอปพลิเคชั่น SEC Bond Check ของสำนักงาน ก.ล.ต. และ MeBond ของ Thai BMA
อ่านข่าวต้นฉบับ: หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์คืออะไร? ทำความรู้จัก-เข้าใจความเสี่ยง ก่อนลงทุนจริง
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้