ก.ล.ต. เผยรายงานวิจัยพฤติกรรมบัญชีซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในไทยกว่า 70% แห่ซื้อเหรียญ LUNA หลังจากมันล่มสลายแล้ว และเกือบทั้งหมด “ขาดทุน”
วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ฝ่ายวิจัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่ผลการศึกษาของ นายพงศธร ปริญญาวุฒิชัย พบว่าผู้ซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเป้าหมายเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น รวมถึงมีการลงทุนตามกระแส และให้ความสนใจกับตัวเลขผลตอบแทนที่สูงเป็นหลัก โดยพร้อมที่จะยอมรับผลขาดทุนเพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้กำไรสูงมากในระยะเวลาอันสั้น
เพื่ออธิบายผลการศึกษาข้างต้น เขาศึกษาการซื้อขายเหรียญ LUNA ที่เคยเติบโต 16,674% ในเดือน เม.ย. 65 ผู้วิจัยได้แบ่งข้อมูลช่วงเวลาของ LUNA ออกเป็น 3 ช่วง คือ
Pre-stage (ก่อน 9 พ.ค.) ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 ถึงจุดสูงสุดในดือน เม.ย. 65 และเหรียญ UST เริ่มหลุดตรึงในวันที่ 9 พ.ค. 65
Fall-stage (ระหว่างวันที่ 9-13 พ.ค.) ช่วงที่ราคาของเหรียญ UST หลุดจากอัตราตรึงมูลค่าหรือมีราคาน้อยกว่า 1 เหรียญสหรัฐ
Bottom out-stage (หลังจากวันที่ 13 พ.ค.) ช่วงเวลาที่ราคาของเหรียญ LUNA ตกไปอยู่จุดต่ำสุดในขณะนั้น และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยประกาศระงับการซื้อขาย LUNA ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 วัน
บัญชีที่จดทะเบียนกับกระดานเทรดไทยที่เข้ามาซื้อขายในปี 2565 นั้นมีอยู่ทั้งหมด 315,077 บัญชี โดยมีสัดส่วนเป็นบัญชีผู้ลงทุนในประเทศประมาณ 99% และผู้ลงทุนประเภทอื่น ๆ อีก 1% ซึ่งจำนวนบัญชีส่วนใหญ่ที่เข้ามาซื้อขายนั้นมีขนาดงบดุลอยู่ในช่วง 5,000-1,000,000 บาท เมื่อนำบัญชีซื้อชายเหล่านี้มาเทียบกับการซื้อขาย LUNA พบว่า
ช่วง Pre-stage มีการซื้อขาย LUNA กว่า 36,396 บัญชี คิดเป็น 11.55%
ช่วง Fall-stage มีการซื้อขาย LUNA กว่า 57,300 บัญชี คิดเป็น 18.19%
ช่วง Bottom out-stage มีการซื้อขาย LUNA กว่า 221,381 บัญชี คิดเป็น 70.26%
กล่าวได้ว่า บัญชีซื้อขายคริปโตของคนไทย เข้ามาซื้อขาย LUNA ช่วงที่ Bottom out หรือ “ล่มสลายไปแล้ว” มากถึง 221,381 บัญชี หรือ 70.26% ของบัญชีผู้ซื้อขายคริปโต
บัญชีกว่า 221,381 บัญชีที่เพิ่งเริ่มเข้ามาซื้อขายในช่วง “หลังล่ม” นี้ พบว่ามีผลตอบแทน “ขาดทุน” คิดเป็น 96% ของทั้งหมด
ผู้วิจัย มองว่าปรากฏการณ์ แห่ซื้อ LUNA หลังล่มนี้ ว่ามี 2 ปัจจัย คือ
1.ปัจจัยด้านราคาของเหรียญ LUNA ที่ลงไปจนถึงจุดต่ำสุดแล้ว ณ วันที่ 13 พ.ค. เมื่อกลับมาเปิดซื้อขายในวันที่ 14 ราคาของเหรียญพุ่งไป 400 เท่า ซึ่งการปรับตัวของราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จึงเกิดการแห่กันเข้ามาซื้อเป็นจำนวนมาก เพราะคิดว่าสามารถทำกำไรจากช่วงเวลาที่ราคาเกิดความผันผวนสูงได้ โดยพฤติกรรมประเภทนี้อาจอธิบายได้จาก อคติเชิงพฤติกรรม (Behavioral biases) ของผู้ซื้อขายที่มักพบว่ามีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป คือหวังโอกาสที่จะได้กำไรสูงกว่าที่เป็น ในขณะที่ประเมินความเสี่ยงที่จะขาดทุนต่ำกว่าความเป็นจริง
2.ปัจจัย ความเชื่อมั่นใน LUNA เนื่องจากเคยเป็นเหรียญที่ติดใน 10 อันดับแรก รวมถึงการที่ผู้ก่อตั้งได้ออกมาประกาศแผนฟื้นฟูที่จะกอบกู้สถานการณ์ ทำให้มีผู้ซื้อขายหน้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อ Luna พากันเข้ามาซื้อขายเป็นจำนวนมาก
- Celsius อาจไม่ใช่แพลตฟอร์มคริปโตแห่งสุดท้ายที่จะล้มละลาย
- นับถอยหลัง “เดอะเมิร์ช” อีเธอเรียม ผู้ถือเหรียญโปรดระวัง
- สตางค์โปร มองตลาดคริปโตเดือน มิ.ย. ผ่าน 3 ปัจจัย จะไปต่อหรือพอแค่นี้
อ่านข่าวต้นฉบับ: หวังเด้งกลับแต่ขาดทุนซ้ำ วิจัยพบคนไทยแห่ซื้อ LUNA หลังล่มสลาย
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้