หนี้สาธารณะ หมายถึง การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจําเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลของประเทศกําลังพัฒนา
หนี้สาธารณะเป็นหนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยกระทรวงการคลังมิได้ค้ำประกัน
หนี้สาธารณะ มาจากคำ 2 คำ คือคำว่า หนี้ กับคำว่า สาธารณะ หนี้ก็แปลว่าต้องไปกู้มา สาธารณะ ก็คือเป็นของพวกเราทุกคน ทำไมถึงเป็นแบบนั้นเพราะว่าหนี้สาธารณะเป็นหนี้ที่ภาครัฐก่อขึ้นมา ทั้งรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน ที่รัฐไปค้ำประกันหรือว่าหน่วยงานอื่น ๆ ของภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่าภาระของหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นภาระภาษีของพวกเราเพราะว่ารายได้จากรัฐบาลที่เป็นรายได้หลักก็มาจากภาษีนั้นเอง ซึ่งพวกเราจำเป็นที่จะต้องมีส่วนในการที่จะรับผิดชอบกับหนี้ก้อนนี้ในอนาคต
หนี้สาธารณะกู้มาทำไม ?
แน่นอนสิ่งที่รัฐบาลทำก็เพื่อที่จะนำหนี้สาธารณะที่กู้มานี้มาสร้างสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือ มากระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะจึงเป็นเป็นเครื่องสะท้อนฐานะการเงินของแต่ละประเทศ และ ความสามารถในการก่อหนี้ของรัฐบาล
ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ปกติ หรือ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ภาคส่วนอื่น ๆ ของประเทศในระบอบเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ เราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐในการกู้ยืมหนี้สาธารณะเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหนี้ที่กู้มาก็นำไปใช้จ่ายหรือส่งกระแสเงินเข้าระบบเศรษฐกิจโดยตรง ในปัจจุบันประเทศไทยส่งกระแสเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราไม่ทิ้งกัน เราเที่ยวด้วยกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ เป็นต้น โดยหวังว่าโครงการต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปได้ ซึ่งหากสำเร็จ จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น และ จะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดต่ำลง
หนี้สาธารณะมากหรือน้อยดูจากอะไร ?
หนี้สาธารณะจะมากจะน้อย จะดู 2 ตัวเท่านั้น คือ หนี้ เทียบกับตัว GDP โดย หนี้ จะอยู่ข้างบน และ GDP จะอยู่ข้างล่างเป็นตัวหาร ตัวตั้ง คือ หนี้ ถ้ายิ่งมากก็แปลว่าหนี้ ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าหนี้น้อย และ GDP ต่ำ ก็แปลว่าหนี้ ต่อ GDP น้อย
หนี้สาธารณะประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
กระทรวงการคลัง รายงานหนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 อยู่ที่ 9.62 ล้านล้านบาท หรือ 59.58% ของ GDP ซึ่งใกล้ทะลุ 60% ต่อ GDP ซึ่งเป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลังแบบเก่าที่ไม่ให้หนี้สาธารณะ ต่อ GDP เกินกว่า 60% ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานการก่อหนี้ได้ถึงไม่เกิน 70% ของ GDP เพื่อให้ประเทศมีช่องในการกู้เงิน ที่มีความจำเป็นต้องกู้จำนวนมากเพื่อฟื้นฟู และ เยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
หนี้สาธารณะไทยเดือน พ.ย. 2564 สูงกว่าเดือนก่อนหน้ากว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2565 และ การกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด 5 แสนล้านบาท ที่ในเดือน พ.ย. 2564 มีการกู้เพิ่มอีกเกือบ 1 แสนล้านบาท ทำให้ยอดการกู้รวม 2.29 แสนล้านบาท เหลือ เงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้อีกประมาณ 2.5 แสนล้านบาท
หนี้สาธารณะ (Government Debt) ในประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
ในหลายประเทศมีสัดส่วน หนี้สาธารณะ ต่อ GDP สูงมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ตอนนี้มี หนี้สาธารณะ ต่อ GDP สูงถึง 230%
สหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะ สูงถึงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหนี้สาธารณะจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น หรือ เครดิตที่ประเทศนั้นว่าจะสามารถสร้างได้มากแค่ไหน ซึ่งก็คือ ประเทศนั้น ๆ มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือ การสร้างรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน
การแบ่งหนี้สาธารณะตามแหล่งที่มาของเงินกู้มี 2 ประเภท คือ
1. หนี้ภายในประเทศ (Internal Debt) เป็นหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลกู้เงินมาจากแหล่งเงินต่างๆ ภายใน ประเทศ ได้แก่ ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง และ สถาบันการเงินอื่น เช่น บริษัทประกันภัย ธนาคาร ออมสิน เป็นต้น ซึ่งเงินที่กู้ยืมนั้นอาจเป็นเงินตราของประเทศ หรือ ต่างประเทศก็ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีการ กู้ยืมเงินจากแหล่งภายในประเทศ ได้แก่การกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น การกู้จาก ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น และประชาชนทั่วไป โดยการเสนอขายพันธบัตรและหลักทรัพย์รัฐบาล ประเภทอื่นๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นต้น
2. หนี้ภายนอกประเทศ (External Debt) เป็นหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลกู้เงินมาจากแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศ ซึ่งอาจกู้จากบุคคล หรือรัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น การกู้ยืมจากธนาคารโลกเป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างหนี้ภายในประเทศและหนี้ภายนอกประเทศ
1. เงินตราที่ใช้ชําระหนี้ การกู้เงินภายในประเทศเมื่อถึงกําหนดชําระเงินก็จะชําระด้วยเงินตราของประเทศนั้น เช่น รัฐบาลไทยชําระหนี้เป็นเงินบาทให้กับธนาคารพาณิชย์ของไทย เป็นต้น แต่การกู้เงินจากต่างประเทศ รัฐบาลต้อง ชําระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศตามสกุลเงินที่ได้ตกลงกันไว้
2. การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การกู้เงินภายในประเทศ ปริมาณเงินของภาคเอกชนจะลดลงแต่ปริมาณเงิน ของภาครัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และเมื่อรัฐบาลชําระคืนเงินให้ภาคเอกชน ปริมาณเงินจะไม่เปลี่ยนแปลง หากเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ ประเทศจะมีเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินหมุนเวียนจะเพิ่มสูงขึ้นและอํานาจซื้อของประเทศจะสูงขึ้น
3. ความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน การกู้เงินภายในประเทศ รัฐบาลไม่ต้องเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่เปลี่ยนแปลง เช่น รัฐบาลกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ 100 ล้านบาท เมื่อถึงกําหนดชําระคืน 100 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศ รัฐบาลจะต้องคาดคะเนด้วยว่าในอนาคตอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจะเป็นอย่างไร เช่น สมมติรัฐบาลยืมเงินจากธนาคารโลก 50 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ อัตราแลกเปลี่ยน 27 บาทต่อ 1 ดอลลาร์จะเป็นเงิน 1,350 ล้านบาท เมื่อหนี้ครบกําหนดชําระ อัตราแลกเปลี่ยน เป็น 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องชําระหนี้ 1,500 ล้านบาทรวมทั้งดอกเบี้ย เป็นต้น
4. เงื่อนไขข้อผูกพันในการกู้ การกู้เงินภายในประเทศมักไม่มีข้อผูกพันหรือเงื่อนไขที่จะบังคับให้รัฐบาลต้องปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นเงินก้จากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศมักมีเงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติ เช่น มีข้อตกลงว่ารัฐบาลจะต้องซื้อ สินค้าหรือว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศผู้ให้กู้ ซึ่งเป็นผลให้ต้องซื้อของในราคาแพง เป็นต้น หรือกรณีกู้เงินจาก ธนาคารโลก ธนาคารโลกมักจะเข้าควบคุมการดําเนินงานตามโครงการเงินกู้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจ่ายเงินตาม โครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิงข้อมูลจาก
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จํากัด (มหาชน)
Investopedia.com