นโยบายการคลัง (Fiscal Policy)
นโยบายการคลัง คือ นโยบายเกี่ยวกับการใช้จ่ายและการหารายได้ของรัฐบาล นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่งในการทำงานของรัฐบาลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ได้กำหนดไว้
วัตถุประสงค์ของนโยบายการคลัง
-
ส่งเสริมการจัดสรรทรัพยากรระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี จัดสรรทรัพยากรในสัดส่วนที่ทำให้สังคมได้รับสวัสดิการและมีประสิทธิภาพสูงสุด รัฐสามารถจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ (Public goods and service) ในปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการของประชาชน
-
ส่งเสริมการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม แต่ละกลุ่มจะได้รับประโยชน์และภาระที่เป็นธรรม นโยบายการคลังจะนำไปสู่การปรับปรุงการกระจายรายได้เบื้องต้นของประชาชนให้ทัดเทียมกัน
-
เสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลสามารถใช้นโยบายการคลังเพิ่มการใช้จ่ายและขยายการลงทุนในภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การลงทุนและการผลิตของภาคเอกชน
-
รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายการคลังสามารถใช้ในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพในตลาดเงิน และความสมดุลในบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
เป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาล เช่น
-
การเพิ่มระดับการจ้างงาน
-
รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ
นโยบายคลังมี 2 ประเภทคือ
- นโยบายการคลังแบบขยายตัว (expansionary fiscal policy) คือการที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ของรัฐบาลหรือการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลซึ่งรัฐบาลมีความต้องการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ การใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวจะใช้เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือเกิดภาวะเงินฝืดและรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต
- นโยบายการคลังแบบหดตัว (Contractionary Fiscal Policy) คือการที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ของรัฐบาลคือการตั้งงบประมาณแบบเกินดุลรัฐบาลต้องการดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลจะใช้นโยบายนี้เมื่อเกิดปัญหาเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจและรัฐบาลต้องการชะลอการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
นโยบายการคลังประกอบด้วย
-
การเก็บภาษีอากร
-
การใช้จ่ายของรัฐบาล
-
การก่อหนี้สาธารณะ
-
การบริหารเงินคงคลัง