spot_imgspot_img
spot_img
หน้าแรกTHAI STOCKทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง-เร็ว บาทอ่อนใกล้ 37 บาท-หุ้นซึมยาว

ทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง-เร็ว บาทอ่อนใกล้ 37 บาท-หุ้นซึมยาว

 

ตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วน ธนาคารกลางทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ย “เร็ว-แรง” ปราบเงินเฟ้อ นักลงทุนเทขายทุกสินทรัพย์ถือ “ดอลลาร์” กดดัน “บาทอ่อนค่า” สูงสุดในรอบ 16 ปี มีสิทธิ์ทะลุ 37 บาท จับตา ธปท.รับมือเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง “KKP” เผยนโยบายการเงินไทยถูกขนาบ คาด กนง. ขึ้น 0.50% “กอบศักดิ์” หนุนบาทอ่อนกระตุ้นเครื่องยนต์ “ส่งออก-ท่องเที่ยว” ตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอย ตลาดหุ้นซึมลึก-ซึมยาว รอดูทิศทางเฟดและ กนง.

ทั่วโลกพาเหรดขึ้นดอกเบี้ย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทำสถิติ ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อหวังสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ทางการสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 2565 พุ่งขึ้น 9.1% (YOY) สูงสุดในรอบ 40 ปี

ด้วยตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าที่คาด ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 26-27 ก.ค. 2565 นี้ เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75-1.00% จากปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ระหว่าง 1.5-1.75% ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น กดดันสกุลเงินชาติต่าง ๆ อ่อนค่าลง รวมทั้งเงินบาทของไทย

รายงานข่าวระบุว่าในช่วงวันที่ 13-14 ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ระดับ 0.50-1.0% ประกอบด้วย ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ที่มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% สู่ระดับ 2.50% ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกัน, ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ปรับขึ้น 0.50% สู่ระดับ 2.25% ขณะที่ “ธนาคารกลางแคนาดา” ประกาศขึ้น 1% สู่ระดับ 2.5% ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเยอะที่สุดในรอบ 24 ปี และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับขึ้น 0.75% สู่ระดับ 3.25%

นโยบายการเงินไทยถูกบีบ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงินเฟ้อสหรัฐเดือน มิ.ย. ที่ออกมา 9.1% ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะราคาน้ำมันยังสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ประเด็นที่ตลาดกังวลคือ ตัวเลขที่เกินคาดมาก และเงินเฟ้อที่มาจากส่วนอื่น ๆ มากขึ้น ไม่ใช่ราคาพลังงานอย่างเดียว เช่น ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น

“แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ความจำเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องถอนคันเร่งหรือแตะเบรกมีสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดคาดการณ์อยู่แล้วว่า การประชุมรอบต่อไปปลายเดือ นก.ค. เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่ตอนนี้ตลาด 70-80% เริ่มพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ย 1% กันแล้ว ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อที่มากขึ้น แรงขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องทำแรงขึ้น วันก่อนธนาคารกลางแคนาดาก็ขึ้นไป 1% ดังนั้น เฟดก็มีโอกาสที่จะขึ้น 1%”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ในแง่ผลกระทบต่อไทย เหมือนว่าตอนนี้ นโยบายการเงินของไทยถูกบีบ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า จะค่อย ๆ ขึ้นดอกเบี้ยไม่ต้องรีบ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น แต่ก็ต้องบอกว่าประเทศอื่นก็เจอปัญหาเดียวกัน และก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว แสดงว่าประเทศอื่นให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อมากกว่าไทย

“ความเสี่ยงก็คือ ยิ่งค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาก ก็ยิ่งทำให้ค่าเงินอื่น ๆ อ่อนค่า ฉะนั้นแต่ละประเทศก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น เพื่อตามเฟดให้ทัน แต่เราบอกว่าไม่ต้องไปตามเขา ซึ่งในความเป็นจริง ผมคิดว่าคงไม่ได้ แม้ว่า ธปท.จะบอกว่าค่าเงินยังสอดคล้องกับภูมิภาค แต่ถ้าถึงตอนนั้นก็ต้องดูแลเยอะขึ้น ตรงนี้เป็นความเสี่ยง”

KKP คาด กนง.ขึ้น 0.50%

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ล่าสุดฟิลิปปินส์ก็เพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สิงคโปร์ก็ปรับค่าเงินให้แข็งค่าขึ้น แสดงว่าทุกประเทศปรับนโยบายการเงินกันหมดแล้ว เหลือแต่ไทยที่ยังไม่ได้ทำอะไร แต่หากทำช้าเกินไป หรือเริ่มทำช้า พอถึงจังหวะที่ถูกบังคับให้ต้องทำ ก็อาจจะต้องทำหนักกว่าที่ควรจะเป็น

สิ่งที่ ธปท.ต้องพยายามทำคือ ดูแลไม่ให้เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า high inflation regime เพราะจะทำให้แก้ปัญหายากขึ้นไปอีก แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะทำ และจะยิ่งทำให้ตลาดตกใจ

“ครั้งนี้เงินเฟ้อไทยมาจากฝั่งซัพพลาย การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ไปช่วยสู้เงินเฟ้อหรือทำให้เงินเฟ้อลดลง แต่จะเป็นการปรามไม่ให้เงินเฟ้อติดลมบน ไม่ให้เงินเฟ้อคาดการณ์ขึ้นไปสูง อีกอย่างก็มีเรื่องค่าเงิน หากเราขึ้นดอกเบี้ยช้า แล้วไปเจอแรงกดดันค่าเงินเยอะ ๆ จะกระทบมาที่เงินเฟ้ออีกรอบ ดังนั้น ผมคิดว่าการประชุม กนง.ครั้งหน้า (10 ส.ค.) อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เลย”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ก่อนจะถึงวันที่ 10 ส.ค. มีประเด็นที่ต้องจับตาคือ ตัวเลขเงินเฟ้อไทย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขึ้นไปต่อ กับประเด็นค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าไปอีก ซึ่งก็มีโอกาสแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ เพราะล่าสุดก็แตะ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้ว เพราะการที่ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐมากขึ้น ก็จะทำให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนค่า

ชี้วัฏจักรไทยแตกต่างสหรัฐ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า เมื่อเดือน มิ.ย. เฟดประกาศว่า ปลายปีนี้จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 3.4% และปีหน้าจะไปสูงสุดที่ 3.8% หลังจากนั้นจะลดลงมาที่ 3.4% โดยอยู่บนพื้นฐานว่า เงินเฟ้ออยู่ที่ 8.6% แต่ล่าสุดเงินเฟ้อขึ้นมา 9.1% หมายความว่าแรงกดดันต่อการเคลื่อนตัวของเงินเฟ้อมีต่อและเร่งตัวขึ้น ดังนั้นในการประชุมเฟดวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ ก็ต้องคิดหนัก จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ขณะที่ตลาดคาดการณ์ไปถึง 1% แล้ว ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินของไทย เชื่อว่า ธปท.จะดูตามความเหมาะสม โดย ธปท.ยืนยันอยู่เสมอว่า ไทยอยู่บนวัฏจักรที่แตกต่างจากสหรัฐ ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวร้อนแรง และตลาดแรงงานตึงแล้ว จึงต้องหาทางจัดการปัญหาเงินเฟ้อให้ได้ ขณะที่ไทยเพิ่งอยู่ช่วงเริ่มต้นการฟื้นตัว ภาคการท่องเที่ยวมีแรงงาน 10 ล้านคน ตอนนี้ยังตกงานอย่างน้อย 50% หมายความว่าเศรษฐกิจไทยยังมีช่วงที่ต้องเอาคนกลับเข้าสู่ระบบอีกมากพอสมควร

หนุน “บาทอ่อน” กระตุ้น ศก.

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าขณะนี้มองว่าน่าจะมีผลดีกับเศรษฐกิจใน 3 ภาค คือ ภาคเกษตร 20 ล้านคน ภาคท่องเที่ยว 10 ล้านคน และภาคส่งออกอีก 3-4 ล้านคน ซึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนจะทำให้กลุ่มเหล่านี้พอไปได้

“ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เราต้องสร้างแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยไปได้ บวกกับการที่นายกรัฐมนตรีจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงส่ง ไปสู้กับปัญหาในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ดังนั้นตอนนี้ถ้าจะเลือก เราน่าจะเลือกซื้อประกันด้านที่ทำให้เศรษฐกิจมีแรงส่งมากกว่า ก็คือดอกเบี้ยขึ้น แต่อย่าไปขึ้นมาก ส่วนค่าเงินก็ให้อ่อนอีกนิด ทั้งหมดจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันภัยให้กับเศรษฐกิจไทย เพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้”

3 ปัจจัย กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรง

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ศูนย์วิจัยยังคงมุมมองว่า ธปท.จะปรับดอกเบี้ย 2 ครั้ง คือในรอบเดือน ส.ค. 0.25% และไตรมาสที่ 4 อีก 0.25% แต่หาก ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยง และกระทบต่อเสถียรภาพก็มีโอกาสที่จะปรับดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้ง เป็นการปรับทุกรอบการประชุม 3 ครั้งที่เหลือ หรือปรับแรงจาก 0.25% เป็น 0.50% ในการประชุมรอบถัดไป พิจารณาเงื่อนไข 2-3 ข้อ ดังนี้

1.เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง 1% ทำให้ดอกเบี้ยเฟดอยู่ที่ 2.75% ขณะที่ดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 0.50% ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย-สหรัฐยิ่งกว้าง จนมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย

2.ตลาดกังวลเกิดเศรษฐกิจถดถอย (recession) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าแรง โดยห้องค้ากสิกรไทยคาดว่าเงินบาทในระยะนี้จะเคลื่อนไหวอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ และภายในสิ้นปีจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงหนุนภาคท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ทำให้เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

และ 3.ตัวเลขเงินเฟ้อไทยออกมาสูงเกิน 8-9% และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม เป็นประเด็นที่ กนง.ให้น้ำหนัก หากพิจารณาว่าเงินเฟ้อมีความเสี่ยงมากกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะเห็นการเทกแอ็กชั่นได้

“ตอนนี้เรายังคงมุมมอง กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพราะ ธปท.ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่า เงินบาทปล่อยตามกลไกตลาด และเงินเฟ้อจะพีกไตรมาสที่ 3 ที่ระดับ 8% และปีหน้าจะชะลอตัวลง ซึ่งต้องรอถึงการประชุมรอบเดือน ส.ค.นี้ คงไม่มีการประชุมนอกรอบ ยกเว้นหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่า 1% เงินบาทอ่อนค่าแรง และเงินเฟ้อไปสูง 8-9% หากพิจารณาจากองค์รวมและมีความจำเป็น ธปท.ก็มีโอกาสทำแรงมากกว่านี้ ซึ่งต้องรอดูเหตุการณ์หลังจากนี้ หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงและผันผวนมากจนเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ”

สิ้นปีดอกเบี้ยไทยแตะ 1.25%

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่ออกมาสูง 9.1% เป็นการเร่งขึ้นของราคาพลังงานก่อนหน้านี้ แต่สัญญาณเริ่มทยอยปรับลดลง สะท้อนว่าเงินเฟ้อสหรัฐเข้าใกล้จุดสูงสุด (พีก) อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 เดือนนี้ยังคงเห็นการผันผวนของตลาดอยู่

โดยมองว่าการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อไทยที่เร่งสูงขึ้นมาจากราคาพลังงาน ค่าไฟ และไม่ได้เร่งแรงเหมือนสหรัฐ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานไทยอยู่ที่ราว 2% แต่สหรัฐสูงถึง 6% มองว่า ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยทุกรอบการประชุม 3 ครั้ง โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีจะอยู่ที่ 1.25%

แต่หากสถานการณ์เงินเฟ้อยังคงขึ้นแรง และคาดการณ์ว่าจะขึ้นต่อเนื่องยาวไปถึงปีหน้า อาจเห็นความจำเป็นที่จะต้องขึ้นมากกว่า 0.25% ในเดือน ก.ย.นี้ เพราะเชื่อว่าเงินเฟ้อจากอุปสงค์มาแน่ เนื่องจากเศรษฐกิจครึ่งปีหลังโตมากกว่า 4% ส่วนเงินบาทอาจเห็นฟันด์โฟลว์ไหลออกได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย แต่เงินบาทอ่อนค่ายังเกาะกลุ่มตลาดเอเชีย

บาทอ่อนทำสถิติรอบ 16 ปี

นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ก.ค.) ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว โดยอยู่ที่ 36.675 บาท เป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2549

“ตอนนี้ดอลลาร์แข็งมาก หลังเงินเฟ้อออกมาเหนือกว่าคาด แทบทุกสินทรัพย์โดนขาย เงินไหลเข้าดอลลาร์ ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามาก จากนี้ต้องรอดูแนวต้านที่ 36.75 บาท ว่าจะอยู่ไหม ถ้าไม่อยู่ อาจจะไปทดสอบระดับ 37 บาท ซึ่งต้องจับตา ธปท.ที่เจอแรงกดดัน นอกจากต้องขึ้นดอกเบี้ยแล้ว อาจต้องเข้าดูแลค่าเงินด้วย” นางสาวกฤติกากล่าว

ฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าไทย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าเงินบาทล่าสุดได้อ่อนค่าลงทะลุแนวต้าน 36.70 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นการอ่อนค่าที่สุดตั้งแต่ปลายปี 2549

ปัจจัยหลักที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องในปีนี้ ไม่ใช่เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกอย่างที่หลายคนกังวล โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะซื้อสุทธิทั้งหุ้นและบอนด์ แต่การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นมาจากการแข็งค่าทำสถิติใหม่ของเงินดอลลาร์ จากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และความเสี่ยงเศรษฐกิจหลักอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปที่กำลังเผชิญความเสี่ยงวิกฤตพลังงาน ซึ่งทำให้เงินยูโรอ่อนค่าต่ำกว่าระดับ 1.0 ดอลลาร์ต่อยูโร ยิ่งหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแม้จะเริ่มดูดีขึ้น แต่โดยรวมแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงถูกกดดันจากยอดนำเข้าที่สูงจากระดับราคาสินค้าพลังงาน รวมถึงปัญหา supply chain disruption ช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่การท่องเที่ยวจากต่างชาติเพิ่งเริ่มเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้

แห่เทขายสินทรัพย์ถือดอลลาร์

นายพูนกล่าวว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 ก.ค. 65 พบว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิ 1.13 แสนล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิ 1.10 แสนล้านบาท เฉพาะในเดือน ก.ค.พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 519 ล้านบาท และตลาดบอนด์ซื้อสุทธิ 2,158 ล้านบาท

“ภาพรวมฟันด์โฟลว์โดยรวมยังคงเป็นการไหลเข้าสุทธิ แต่เงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากตลาดมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ตลาดปรับลดความเสี่ยง (risk off) นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงถือดอลลาร์ ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า ประกอบกับยูโรโซน ภาพเศรษฐกิจก็ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคอ่อนค่า”

นายพูนกล่าวว่า มองไปข้างหน้าไทยยังไม่เผชิญเงินทุนไหลออกรุนแรง แม้ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% ตามตลาดคาดการณ์ แต่ระยะสั้นไทยน่าจะโดนจากเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่ ที่จะมาพร้อมกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งต้องรอดูผลประชุมเฟด วันที่ 26-27 ก.ค.นี้ รวมถึงหากจีนเกิดล็อกดาวน์เพิ่ม อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้

สำหรับมุมมองหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2566 มองว่า การส่งออกและการท่องเที่ยวอาจชะลอลงในช่วงแรก ๆ ของเศรษฐกิจถดถอย แต่หลังจากนั้นถ้าวิกฤตไม่รุนแรงมาก สุดท้ายการอ่อนค่าของเงินบาทจะกลับมาหนุนการท่องเที่ยวและการส่งออก ทำให้ค่าเงินจะกลับมาแข็งค่าได้เอง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี

หุ้นซึมยาวหวั่นหลุด 1,500 จุด

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกค่อนข้างซึม เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่เริ่มดูดเงินกลับเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ (QT) และขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยประเมินว่า ตลาดหุ้นไทย (SET Index) จะซึมยาวไปจนถึงเดือน ส.ค. 65 เพื่อรอดูอัตราเงินเฟ้อสหรัฐว่าถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง นอกจากนี้ ตลาดรอดูการประชุม กนง. ในเดือน ส.ค. ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% หรือ 0.50% หากปรับขึ้น 0.50% มีโอกาสสูงมากที่ SET Index จะหลุดระดับ 1,500 จุด คีย์สำคัญคือถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ถ้าขึ้น 1% มีโอกาสสูงมากที่ กนง.ต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งค่าเงินบาทจะทะลุ 37 บาทแน่นอน

“สถานการณ์แบบนี้ นักลงทุนก็ไม่มีใครกล้าซื้อหุ้น เพราะถือว่าเป็นปัจจัยคอนโทรลไม่ได้ ทุกคนจึง wait & see โดยทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ต่างชาติซื้อสุทธิมากกว่า 1.13 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ซื้อในเซ็กเตอร์พลังงาน และเมื่อราคาน้ำมันดิบต่ำกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล นักลงทุนต่างชาติจึงมีการขายทำกำไร โดยช่วงนี้จะเห็นฟันด์โฟลว์ตลาดหุ้นไหลออกต่อเนื่องจนกว่าจะเห็นภาพว่า กนง.ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50%” นายสรพลกล่าว

  • แบงก์ชาติทั่วโลกพาเหรด “ขึ้นดอกเบี้ย” เร็ว-แรง สกัดเงินเฟ้อ
  • เงินเฟ้อสหรัฐยังพุ่งต่อเนื่อง ตลาดคาดเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1%

อ่านข่าวต้นฉบับ: ทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง-เร็ว บาทอ่อนใกล้ 37 บาท-หุ้นซึมยาว

     

คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้


Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้

spot_imgspot_img
RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Technical Summary Widget Powered by Investing.com

ANALYSIS TODAY

Translate »