ค่าเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี แตะระดับ 36.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/65 จะเติบโตได้มากกว่า 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การส่งออกของไทย
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 18-22 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (18/7) ที่ระดับ 36.54/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/7) ที่ระดับ 36.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากแรงขายสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด ประกอบกับนักลงทุนได้ปรับลดคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในช่วงสิ้นเดือนนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในเดือนนี้ แทนที่จะปรับขึ้นอย่างรุนแรงถึง 1.00%
คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่ถึง 1%
นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยอมรับว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการตัดสินใจในการประชุมนโยบายการเงินของเฟด โดยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.1 ในเดือน ก.ค. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.0
ขณะเดียวกันผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 5.3% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. และสำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% โดยต่ำกว่าระดับ 3.1% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี
นอกจากนี้ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 33.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 66.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุด 36.95 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่า แตะระดับสูงสุดที่ 36.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันพฤหัสบดี (21/7) ขณะที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/65 จะสามารถเติบโตได้มากกว่า 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 14.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ราว 1.5 ล้านคน ซึ่งทั้งปีนี้คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 6 ล้านคน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่าฟื้นตัวขึ้นชัดเจน แต่ยังไม่ทั่วถึง (K-shaped) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 65 จะขยายตัวได้ 3.3% โดยยังมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น คาดทั้งปีอยู่ที่ระดับ 6.2% ซึ่งจะทำให้การส่งผ่านต้นทุนกระจายไปยังสินค้าหลายหมวดมากขึ้น สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาส 2/65 อย่างเป็นทางการนั้น สภาพัฒน์ จะมีการรายงานในกลางเดือน ส.ค. 65 ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.52-36.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่ประกาศในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 2% ในเดือนมิถุนายน สู่ระดับ 1.559 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.580 ล้านยูนิต
ทั้งนี้ ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านที่ลดลงนั้นได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และราคาวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 251,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 240,000 ราย
ขณะที่เฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดิ่งลงสู่ระดับ -12.3 ในเดือน ก.ค. หลังจากแตะระดับ -3.3 ในเดือน มิ.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ ทั้งนี้ ดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 0 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกอยู่ในภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ครั้งแรกในรอบ 11 ปี
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (18/7) ที่ระดับ 1.0098/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/7) ที่ระดับ 1.0037/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางการจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดี (21/7) ซึ่งคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี ความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยังคงเป็นปัจจัยถ่วงค่าเงินยูโร
อย่างไรก็ตาม ในคืนวันพฤหัสบดี (21/7) ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวรุนแรงกว่าที่ ECB ส่งสัญญาณในเดือน มิ.ย.ว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.25% ในเดือน ก.ค.
รัสเซียกลับมาส่งก๊าซให้ยุโรป
อย่างไรก็ดี ตลาดได้คลายความกังวลหลังมีรายงานว่า รัสเซียได้กลับมาส่งก๊าซให้กับยุโรปผ่านทางท่อส่ง Nord Stream 1 แล้วหลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงประจำปี ขณะที่ก่อนหน้านี้มีความวิตกกังวลว่า รัสเซียจะไม่ส่งก๊าซให้ยุโรป แม้เสร็จสิ้นการซ่อมบำรุง ทั้งนี้ ท่อส่ง Nord Stream 1 ซึ่งมีการจัดส่งก๊าซมากกว่า 1 ใน 3 ของรัสเซียให้แก่ยุโรป ได้ซ่อมบำรุงประจำปีตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 21 ก.ค. ทั้งนี้ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1.0064-1.0275 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0157/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (18/7) ที่ระดับ 138.16/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/7) ที่ระดับ 138.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลง โดยได้รับปัจจัยกดดัน จากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยน ยังคงอ่อนค่าหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultracasy Monetary Policy) ตามคาดในวันพฤหัสบดี (21/7) ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ขณะเดียวกัน BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานพุ่งขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลง
ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงดอกเบี้ยนโยบาย -0.1%
ทั้งนี้ คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ที่ประมาณ 0% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของปีงบประมาณ 2565 โดยระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด จะขยายตัว 2.3% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.9%
นอกจากนี้ BOJ ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 ลงสู่ระดับ 2.4% จากเดิมที่ 2.9% เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ยังคงเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจ สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผย ได้แก่ ดัชนีราคผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ซึ่งมีความผันผวนพุ่งขึ้น 2.2% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี และสูงกว่าระดับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ที่ 2% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งจะเพิ่มผลกระทบต่อภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น
ทั้งนี้โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.00-138.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 137.57/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
- 6 แบงก์อู้ฟู่ ปัญหาเศรษฐกิจไม่กระทบ โกยกำไรครึ่งปี 9.5 หมื่นล้าน
- ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ย้ำทยอยขึ้นดอกเบี้ย ดูแลเศรษฐกิจฟื้น แบบไม่สะดุด
- ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ครั้งแรกรอบ 11 ปี มากกว่าตลาดคาด
อ่านข่าวต้นฉบับ: ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้