spot_imgspot_img
spot_img
หน้าแรกANALYSIS BY THAIFRXโลกระส่ำหนัก ! เมื่อพลังงานถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง

โลกระส่ำหนัก ! เมื่อพลังงานถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง

วิกฤตการณ์น้ำมันโลกในช่วงทศวรรษ 1970 ได้สอนให้นักการเมืองตะวันตกรู้ซึ้งถึงอานุภาพของมหาอำนาจด้านพลังงาน และในอีก 50 ปีต่อมา ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย โลกหวนเผชิญบทเรียนอันแสนขมขื่นดังกล่าวอีกครั้ง

 

ตาต่อตาฟันต่อฟัน

สงครามในยูเครนไร้แววยุติ ทั้งยังส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ชาติตะวันตกหวังตัดท่อน้ำเลี้ยงบีบให้รัสเซียพ่ายศึกด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรพลังงานบางส่วน แต่คาดไม่ถึงรัสเซียกัดฟันสู้กลับ สั่งระงับส่งออกก๊าซให้ยุโรป ความเสี่ยงในการถูกตัดขาดจากก๊าซรัสเซียอย่างสิ้นเชิงสร้างความตื่นตระหนกในยุโรป เพราะเหมันต์อันหนาวเหน็บใกล้มาเยือนในอีกไม่ช้า

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐจำต้องกลืนน้ำลายที่เคยลั่นวาจาว่าจะปฏิบัติกับซาอุดีอาระเบียดั่งพวกนอกคอกจากเหตุฆาตกรรมนายจามาล คาช็อกกี นักข่าวของวอชิงตันโพสต์เมื่อหลายปีก่อน โดยเขาวางแผนเดินทางเยือนกรุงริยาดในเดือนก.ค.เพื่อโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มการผลิตน้ำมัน หลังราคาน้ำมันพุ่งอย่างมากก่อนถึงศึกเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่คะแนนนิยมในตัวผู้นำสหรัฐตกต่ำ และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาเป็นสาเหตุของปัญหาเงินเฟ้อที่พวยพุ่งดุจควันไฟ

 

ถือไพ่เหนือกว่า

ในช่วงทศวรรษ 1970 ได้เกิดวิกฤตน้ำมันสองระลอก ครั้งแรกในปี 2516 จากผลพวงของสงครามยมคิปปูร์ หรือสงครามตุลาคม เมื่ออียิปต์และซีเรียผนึกกำลังบุกตีอิสราเอล โดยได้รับแรงหนุนจากกลุ่มประเทศอาหรับในวันที่ 6 ต.ค. 2516 ต่อมาพันธมิตรอาหรับภายใต้กลุ่มโอเปกอาศัยความได้เปรียบด้านน้ำมันประกาศงดส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐและชาติพันธมิตรอื่น ๆ ของอิสราเอลจนนำไปสู่วิกฤตน้ำมัน

ส่วนวิกฤตน้ำมันรอบสองเกิดขึ้นในปี 2522 เนื่องจากการผลิตน้ำมันลดน้อยลงท่ามกลางเหตุการณ์การปฏิวัติอิหร่าน แม้อุปทานน้ำมันโลกลดลงเพียง 4% แต่ปฏิกิริยาของตลาดน้ำมันส่งให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอย่างมากติดต่อกันเป็นเวลาถึง 12 เดือน โดยการพุ่งขึ้นแบบฉับพลันของราคาน้ำมันนั้นคู่ขนานไปกับภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง ประชาชนต้องแห่ต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงตามปั๊มต่าง ๆ เช่นเดียวกับวิกฤตน้ำมันในปี 2516

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตพลังงานในปี 2565 หรือในปี 2516 เหล่าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกก็ยังสามารถชักเชิดให้มหาอำนาจทางการเมืองเต้นตามจังหวะของตนเองได้

แต่หากมองข้ามสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภูมิศาสตร์การเมืองด้านพลังงานมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก รัสเซียมีความแข็งแกร่งด้านพลังงานในระยะสั้นก็จริง ทว่าจะอ่อนกำลังลงอย่างชัดเจนในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในทางกลับกันสหรัฐที่มีปัญหาใหญ่ในระยะสั้นส่อแววแข็งแกร่งในระยะยาว

ส่วนสหภาพยุโรป (EU) นั้นต้องเผชิญปัญหาหนักสุดทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง แม้วาดหวังที่จะสร้างความหลากหลายด้านพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทว่ายุโรปยังต้องเผชิญหนทางอันยาวไกลในการค้นหากลยุทธ์ด้านพลังงานใหม่ที่ใช้การได้จริง

รัสเซียและ EU ต่างต้องเร่งลงมือแข่งกับเวลา รัสเซียตั้งเป้าบ่อนทำลายเศรษฐกิจยุโรปให้ได้ภายในฤดูหนาวนี้ เพื่อตัดกำลังสนับสนุนจาก EU ให้กับยูเครน โดยรัฐบาลฮังการีเริ่มอดรนทนไม่ไหวออกมาเร่งเร้าให้รีบยุติไฟสงครามในยูเครน เพราะหวั่นวิตกว่าจะเกิดหายนะทางเศรษฐกิจ

 

พ่ายแพ้ระยะยาว

ยุโรปมีเวลาไม่กี่เดือนในการเตรียมรับมือกับการระงับส่งออกก๊าซของรัสเซียก่อนถึงฤดูหนาว แต่แม้ว่ายุทธวิธีกดดันของรัสเซียจะประสบผลสำเร็จในระยะสั้น ทว่าเมื่อพิจารณาในระยะยาวแล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินนั้นกำลังทำลายหนึ่งในเสาหลักแห่งอำนาจของรัสเซีย

บัดนี้ยุโรปตระหนักถึงอันตรายของการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียและตัดสินใจว่าจะไม่ยอมเอาตัวมาเสี่ยงอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสรายหนึ่งของเยอรมนีเปิดเผยว่า “ก่อนสงครามในยูเครนเปิดฉาก รัสเซียมีหลักประกันจากรายได้น้ำมันและก๊าซอีกถึง 30 ปี ทว่าขณะนี้เหลือเพียง 3 ปีเท่านั้น”

แม้กระทั่งในระยะสั้น การระงับส่งออกก๊าซไปยุโรปก็ถือเป็นเกมอันตรายสำหรับรัสเซีย ทุกวันนี้รัสเซียยังมีรายได้เข้ากระเป๋าประมาณ 1 พันล้านยูโรต่อวัน โดยส่วนใหญ่แล้วมาจากยุโรป หากปธน.ปูตินยอมสละรายได้ก้อนนี้ไป ความสามารถในการกรำศึกของเขาจะลดทอนลงอย่างรวดเร็ว

รัสเซียสามารถหาลูกค้าน้ำมันรายใหม่ได้อย่างง่ายดาย เห็นได้จากความกระตือรือร้นของอินเดียและจีนในการเพิ่มการนำเข้าน้ำมันลดราคา แต่สำหรับก๊าซนั้นต้องส่งออกผ่านทางท่อและท่อส่วนใหญ่นั้นมีจุดหมายปลายทางไปยังยุโรป การสร้างท่อเชื่อมต่อกับจีนต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นรัสเซียจึงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปัญหาสินทรัพย์ด้อยค่าเร็ว ๆ นี้

 

ตัดบัวยังเหลือใย

ยุโรปมุ่งมั่นที่จะปลดแอกจากการพึ่งพาพลังงานรัสเซียเห็นได้จากกำหนดการเดินทางต่างประเทศของบรรดาผู้นำ โดยนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เพิ่งเดินทางเยือนอิสราเอลและอียิปต์ เพื่อลงนามข้อตกลงก๊าซฉบับใหม่ ขณะที่ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนีเดินทางเยือนเซเนกัลเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อผลักดันแผนพัฒนาแหล่งก๊าซแห่งใหม่ โดยเซเนกัลมีทรัพยากรก๊าซหลายพันล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะกลายมาเป็นผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ให้กับภูมิภาคในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือยุโรปจะสามารถสรรหาพลังงานทดแทนพลังงานจากรัสเซียได้รวดเร็วและราบรื่นเพียงใด โดยผู้คร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรมบางรายแสดงความกังขาในเรื่องนี้ ยุโรปมีแนวโน้มต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันน่าอึดอัดใจตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า ตัดบัวแต่ยังเหลือใย จำต้องลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย แต่ไม่อาจตัดขาดได้อย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ผู้บริโภคต่างก็ลำบากเพราะพลังงานราคาแพง ส่วนอุตสาหกรรมต้องเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงด้านอุปทาน

 

อเมริกา ผู้ชนะตัวจริง

ในทิศทางตรงกันข้าม สหรัฐอยู่ในสถานะที่ดีกว่ามากเมื่อมองในระยะยาว โดยนายแดน เยอร์กิน นักวิเคราะห์ด้านพลังงานชั้นนำชี้ชัดว่าสหรัฐได้ชิงตำแหน่งรัสเซียในฐานะผู้ส่งออกพลังงานชั้นนำของโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคอเมริกัน แต่พวกเขายังมีอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานในประเทศรองรับ บทเรียนสำคัญประการหนึ่งจากสงครามในยูเครนคือการพึ่งพาพลังงานจากศัตรูทางการเมืองถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง โดยขณะนี้ สหรัฐเป็นผู้ส่งออกพลังงานสุทธิ แต่เมื่อมองไปอีกฝั่ง จีนยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก

 

ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกแหลกลาญ

สหรัฐพยายามใช้พลังงานเป็นอาวุธในการบั่นทอนอิทธิพลอริประเทศ โดยก่อนหน้านี้ได้คว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันอิหร่านและเวเนซุเอลา ต่อมาเมื่อสงครามในยูเครนเปิดฉาก สหรัฐก็บีบให้ชาติพันธมิตรร่วมกันคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย แม้สหรัฐผลิตพลังงานได้เองภายในประเทศ ทว่าไม่เพียงพอที่จะปกป้องผู้บริโภคอเมริกันจากการพุ่งทะยานขึ้นของราคาน้ำมันโลก กระทั่งมหาอำนาจเช่นสหรัฐก็ไม่สามารถโดดเดี่ยวผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกทุกแห่งพร้อมกันในคราวเดียวได้

นโยบายพลังงานได้กลายมาเป็นนโยบายการต่างประเทศ สหรัฐหวังปราบพยศรัสเซียผ่านการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ แต่การปาหินใส่หนูนั้นยากที่จะเลี่ยงไม่ให้โดนแจกัน ราคาน้ำมันเบนซินพุ่งทะยานขึ้นจนสั่นคลอนอำนาจทางการเมือง คณะบริหารภายใต้การนำของปธน.ไบเดนจึงพิจารณาทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มอุปทานน้ำมันโลก รวมถึงการพลิกฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับเวเนซุเอลาและอิหร่าน

นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังวางแผนเดินทางเยือนกรุงริยาดในเดือนก.ค.นี้ เพื่อขอให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มการผลิตน้ำมัน แต่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศสออกโรงเตือนเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้โดยอ้างอิงข้อมูลจากมกุฎราชกุมารชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยานแห่งอาบูดาบีว่า ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แทบจะไม่สามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันได้แล้ว โดยทั้งคู่ถูกมองว่าเป็นเพียงสองประเทศในโอเปกที่มีความสามารถเพียงพอในการเพิ่มอุปทานเข้าสู่ตลาดโลกจนถึงขั้นลดราคาน้ำมันได้

“พระองค์ตรัสว่า UAE ผลิตน้ำมันเต็มศักยภาพแล้ว ส่วนซาอุดีอาระเบียสามารถเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น”

ปธน.มาครงกล่าว

ขณะที่นายซูฮาอิล อัลมาซโรอี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ UAE ยืนยันถ้อยแถลงของปธน.มาครงว่า “ขณะนี้ UAE ผลิตน้ำมันใกล้เคียงระดับสูงสุดของกำลังการผลิตแล้วโดยอิงตามพื้นฐานการผลิตของโอเปกพลัส”

ความเห็นของผู้นำฝรั่งเศสหนุนให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่ง 1.7% แตะที่กว่า 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทันที ขณะเดียวกันทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่การประชุมของโอเปกพลัสในวันพฤหัสบดีที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อหารือแผนการผลิตน้ำมันดิบในเดือนส.ค.

ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากภาวะขาดแคลนอุปทานและการฟื้นตัวขึ้นของอุปสงค์หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ราคายังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่รัสเซียยกพลบุกโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ.

แม้ใจมุ่งมั่นแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงใด แต่ในระยะสั้น นานาประเทศต้องเฟ้นหาแผนขัดตาทัพเพื่อคลี่คลายวิกฤตพลังงานโลก กรณีดังกล่าวทำให้อุปสงค์เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุด โดยเยอรมนีตัดสินใจกลับมาเปิดโรงงานถ่านหินอีกครั้ง ส่วนจีนก็ยึดมั่นต่อการผลิตพลังงานถ่านหินภายในประเทศมากยิ่งขึ้น

การใช้พลังงานเป็นเครื่องมือทางการเมืองถือเป็นฝันร้ายของประชาชน และอาจเป็นข่าวร้ายยิ่งกว่าสำหรับโลกทั้งใบนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์

spot_imgspot_img
บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป
RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Technical Summary Widget Powered by Investing.com

ANALYSIS TODAY

Translate »