เคลมดิ สตาร์ตอัพอินชัวร์เทคประกันรถ ผันตัวเองปั้นรายได้ไม่ใช่งานเคลม อุดรายได้เคลมที่หดตัวแรง เอฟเฟ็กต์ลูกค้าไม่มีเงินซื้อประกันรถชั้น 1-ลุยระดมทุนเพิ่ม 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำ first party data-Dip Chip
วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Claim Di (เคลมดิ) สตาร์ตอัพอินชัวร์เทค ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นเคลมประกันภัยรถ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2565 บริษัทมีรายได้รวมอยู่เกือบ 70 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่ไม่ใช่งานเคลม(non-claim) เป็นหลัก โดยรายได้ก็อาจยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แม้เริ่มกระเตื้องขึ้นแต่ยังไม่มากพอ โดยบริษัทต้องปรับโอเปอเรชั่นภายในมากพอสมควรเพื่อรองรับงานเคลมที่กำลังกลับเข้ามา แต่หลัก ๆ ก็จะยังโฟกัสงาน non-claim มากกว่า โดยคาดว่าทั้งปีอาจจะมีรายได้รวมอยู่แค่ 140 ล้านบาท
“ตอนนี้งานเคลมกลับมาแต่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ แต่พนักงานเซอร์เวเยอร์ที่ทำเคลมได้ช่วงโควิดเขากลับไปอยู่ต่างจังหวัดกันหมดเพราะไม่มีงานทำ และช่วงนี้ก็ยังไม่กลับมา เราจึงต้องปฏิเสธงานเคลมไปค่อนข้างเยอะ”
อย่างไรก็ตามเชื่อว่างานเคลมจะไม่มีทางกลับมาที่ระดับ 100% ได้แน่นอน เพราะว่ารถท่องเที่ยวหายไปเป็นล้านคัน ตอนนี้กลับมาได้ไม่ถึง 30% ประกอบกับคนที่ซื้อประกันรถชั้น 1 ก็หันมาซื้อประกันรถชั้น 3 แทน ทำให้งานเคลมไม่มี แม้ว่ารถจะกลับมาวิ่งบนท้องถนนมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้ก็คาดหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาพเหล่านี้จะดีขึ้นกว่านี้ได้
ทั้งนี้หากดูในปี 2563-2564 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 170 ล้านบาท และ 182 ล้านบาท โตได้ไม่มากเป็นเพราะช่วงปลายปี 2564 บริษัทได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดโควิดของคลัสเตอร์สมุทรสาคร ซึ่งแทบทุกบริษัทกลับไปใช้นโยบายทำงานที่บ้าน(WFH) ส่งผลให้การใช้รถบนท้องถนนลดลงอย่างมาก กดดันรายได้งานเคลมหดตัวเหลือแค่ 15% จาก 100% แต่งานส่วนนี้ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 30-40%
ทั้งนี้สาเหตุที่รายได้งานเคลมกลับมาไม่ถึง 100% เป็นเพราะลูกค้าระดับกลางและระดับล่างแทบไม่มีเงินซื้อประกันรถชั้น 1 นั่นหมายความว่าลูกค้าจะซ่อมรถตัวเองไม่ได้ กระทบเคลมแห้ง(การเคลมที่เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุนั้นผ่านไปแล้ว) และเคลมสีรอบคันก่อนเปลี่ยนประกันก็หายไปหมด และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออู่ซ่อมทั้งประเทศล้มหายตายจากไปเกือบ 50% ขณะที่บรรดาพนักงานเซอร์เวเยอร์ก็ไม่มีงานทำ
โดยเมื่อปีก่อนบริษัทมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20% มาจากงานเคลม และ 51% มาจากงานที่ไม่ใช่เคลม เช่น 1.งานตรวจสภาพรถก่อนรับประกัน 2.ตรวจสภาพรถก่อนซื้อขาย 3.ซ่อมรถซ่อมบ้าน 4.ประสานงานโรงพยาบาล 5.ติดตั้ง point of sale ให้กับกระทรวงพาณิชย์และร้านโชห่วยทั่วประเทศ
6.ช่วยแกร็บฟู๊ดรีครูทร้านอาหารทั่วประเทศ 7.ช่วยแกร็บไดร์เวอร์ทำเคลม 8.ช่วยอนุมัติสินเชื่อ Car for Cash(กสิกรลีสซิ่ง, ธนชาตลีสซิ่ง, อิออนลีสซิ่ง, ซีไอเอ็มบีไทยลีสซิ่ง) 9.ช่วยธนาคารออมสินขายบัตรเครดิตทั่วประเทศ 10.ช่วย SCB Protect รีครูทตัวแทนนายหน้าทั่วประเทศ
และช่วงโควิดมีรับทำส่งอาหาร ทำ Home Isolation และทำ telemedicine ร่วมกับมิตรไมตรีคลินิก ส่วนรายได้ที่เหลืออีก 14% เป็นรายได้ Assist และ 6% เป็นรายได้จากคอลเซ็นเตอร์ และ 9% เป็นรายได้จากซอฟแวร์
ปัจจุบัน Claim Di มีฐานลูกค้าของพาร์ตเนอร์อยู่ประมาณ 4.5 ล้านคน มีพนักงาน 120 คน มีจำนวน Claim Di Bike จำนวน 15,000 คน มีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่น 1.7 ล้านดาวน์โหลด แอกทีฟอยู่ประมาณ 6-7 แสนคน มีจำนวนพนักงานคอลเซ็นเตอร์ 60 คน โดยบริษัทสามารถทำเคลมได้ ซ่อมรถได้ และมี Home Assist, Police Assist และ Hospital Assist ซึ่งปัจจุบันมี 16 สาขาทั่วประเทศ โดยมีหน้าที่รีครูทพนักงาน Claim Di Bike เพิ่มขึ้น มีอะคาเดมีเทรนนิ่งและ QC งาน
นายกิตตินันท์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังระดมทุนใหม่กับ VC ในกลุ่มอินชัวร์เทค ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยต่อและอินชัวร์เทครายใหญ่ของโลก เพิ่มเติมอีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำเงินมาใช้ต่อยอดในสิ่งที่ทำอยู่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และดำเนินการเรื่องของ first party data เนื่องจากอีโคซิสเต็มนี้ค่อนข้างใหญ่มาก
ขณะเดียวกันหากแบงก์ชาติประกาศให้ทำการตรวจสอบหลักฐานด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการเปิดบัญชีและทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer หรือ KYC) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งต้องทำเป็น Dip chip ทั่วประเทศ ซึ่งมีทรานแซกชั่นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านทรานแซกชั่น เช่น การเทรดหุ้น, การเทรดบิตคอยน์ เป็นต้น จะเป็นโอกาสของบริษัทอย่างมาก
โดยปัจจุบันเคลมดิจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์สตาร์ตอัพรายหนึ่งที่ทำเรื่อง Dip chip ไว้แล้ว โดยเราจะใช้ประโยชน์จาก Claim Di Bike ที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้าไปบริการตรงนี้ได้ ซึ่งจะมีรายได้ส่วนนี้เข้ามาหนุนรายได้รวมในปีนี้อีกด้วย
อ่านข่าวต้นฉบับ: เคลมดิ สตาร์ตอัพประกันรถ ผันตัวเองปั้นรายได้ไม่ใช่งานเคลม
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้