สวนยางรอเฮ กยท.แง้มประกันรายได้ยางเฟส 4 เคาะ 60 บาท/กก. ประเมินราคายาง Q3 ยังแกว่งจากภาวะปัจจัยโลกกดดัน ความยืดเยื้อรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่าง ไต้หวัน จีน สหรัฐ พร้อมจับตาพายุมู่หลานกระทบพื้นที่ปลูกยางไทย เผยอานิสงส์จีนสั่งลดภาษีรถใหม่-EV ดันดีมานด์ยางเพิ่มขึ้นอีก 4%
วันที่ 11 สิงหาคม 2565 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ล่าสุด โครงการประกันรายได้ยางพารา ระยะที่ 4 (เฟส 4) อยู่ระหว่างการนำเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณา ส่วนจะมีความคิดเห็นและทิศทางนโยบายอย่างไรต้องประเมินจากปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ
ทั้งนี้ กยท.มองว่าโครงการประกันรายได้ เป็นโครงการที่มีประโยชน์ สร้างความมั่นคงให้กับรายได้กับพี่น้องเกษตรกร โดยได้พิจารณาผ่านบอร์ด กยท. แล้วช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ส่วนงบประมาณจะเป็นเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ แต่ยืนยันว่าปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณได้คุ้มค่า หากให้ประเมินจากสถานการณ์ราคายางขณะนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงที่ราคาเเกว่งส่งผลให้เสถียรภาพต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะเดิมปริมาณคาดการณ์ไว้ใช้สถิติราคาเฉลี่ยย้อนหลัง แล้วนำมาบวกปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการคาดการณ์ล่วงหน้าแต่ละช่วงรายปีได้
ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ว่าการใช้เงินในปีนี้จะมากหรือน้อยกว่าครั้งที่แล้ว แต่ก็ต้องพยายามควบคุมกรอบไม่ให้เกินงบประมาณ ตามวินัยการเงินและการคลัง
อย่างไรก็ดี เบื้องต้นคาดว่าจะพิจารณายางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม 2.น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม 3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน
“ภาพรวมสถานการณ์ราคายางไตรมาส 3-4 ปีนี้ เป็นช่วงซีซั่นปกติที่ราคาแกว่งตัวจากกลไกตลาด แต่ยอมรับว่าปีนี้ได้รับปัจจัยภายนอกมากดดัน ทั้งราคาตลาด สงครามรัสเซีย-ยูเครน โควิดที่ยังมีผลบ้างในประเทศหลักอย่างจีน ซึ่ง กยท.พยายามสื่อสารเกษตรกรให้รับข้อมูลข่าวสารและพร้อมปรับตัว แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับใกล้เคียงปีที่ผ่านมา”
ส่วนแนวโน้มความต้องการโลกยังดี แต่ผลผลิตยางที่มีน้อยลง ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องของดีมานด์ในแต่ละช่วงด้วย เพราะบางประเทศสต๊อกได้ แต่จุดอ่อนคือเมื่อเก็บสต๊อกแล้วทำให้เกิดการเก็งกำไร ดังนั้นในส่วนนี้ กยท.ต้องเข้าไปเพิ่มการใช้มากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ขณะที่ปริมาณยางในสต๊อกเอกชนยังมีปกติที่สต๊อกไว้ 1-2 เดือน ซึ่งผลผลิตที่มีน้อยส่งผลต่อราคามีการเปลี่ยนแปลง ซื้อไว้ในช่วงที่ไม่ตรงตามฤดู น้ำยางสด ราคาอาจปรับตัวสูง ตามความต้องการ
นายณกรณ์กล่าวถึงประเด็นการเก็บค่าบริการ (ค่าต๋ง) 5 สตางค์/กิโลกรัม กรณีนี้ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการแล้ว และผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากคุณภาพ โดยย้ำว่า กยท.มุ่งเน้นการทำสวนยางเชิงธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์มากที่สุด
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ฉายภาพถึงสถานการณ์และราคายาง ในไตรมาสที่ 3/2565 ว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลต่อราคายาง มาจากการประเมินของ World bank & OECD GDP Projections in 2002 ประกาศ ค่า PMI ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ 52.20 ประเทศจีน 49.00 ประเทศญี่ปุ่น 52.10 และยุโรป อยู่ที่ 49.80 เนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการ Zero COVID ของจีน และความขัดแย้งระหว่างไต้หวัน จีน และสหรัฐ การดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเศรษฐกิจหลักเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ขณะที่ปริมาณการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติของโลก ประเทศผู้ผลิต โดย ANRPC วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ปริมาณการผลิตในปี 2565 อยู่ที่ 14.420 ล้านตัน และปริมาณการใช้ยางในปี 2565 อยู่ที่ 15.204 ล้านตัน
เนื่องจากคาดว่าการดำเนินนโยบายการลดภาษีในรถใหม่ของจีน ทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 24% และความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้การผลิตรถ EV เพิ่มขึ้น โดย ANRPC คาดว่าความต้องการยางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4%
ส่วนปริมาณผลผลิตยางภายในประเทศสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งเมื่อคิดผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นโดยเฉพาะทุเรียน
และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น เพราะปีนี้ยังอยู่ในภาวะลานิญา และในช่วงของเดือนสิงหาคม-กันยายน เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก เพราะฉะนั้น เกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากจากพายุมู่หลาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ
ด้านการส่งออก คาดว่าจะอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน โดยการส่งออกในช่วงของปลายปี ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังใช้ยางเป็นหลัก ในส่วนของอุตสาหกรรมยางล้อ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ในปีนี้ สหรัฐมีมูลค่าการนำเข้ายางยานพาหนะเพิ่มขึ้น 31%
ในส่วนของแนวโน้มยางพารา จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว การเดินทาง และการขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเส้นด้ายยางยืด หรือล้อรถยนต์ คาดว่ามีโอกาสที่จะมีการใช้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กยท.ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยมีมาตรการต่าง ๆ ที่จะเข้ามาดูแลทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง 4 โครงการ ได้แก่ รักษาเสถียรภาพราคายางโครงการชะลอยาง โครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้ง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
- ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. 65 ดีขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 2 เหตุโควิดผ่อนคลาย
- โอกาสส่งออกไทย หลังจีนแบนสินค้าไต้หวัน 2,000 รายการ
อ่านข่าวต้นฉบับ: ประกันรายได้ยางเฟส 4 กยท. แง้ม เคาะ 60 บาท/กก. วิกฤตไต้หวันกดดันราคา Q3
คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้
Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้